ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรอบการพัฒนาระบบ บริการในแต่ละเขตบริการสุขภาพ ซึ่งทั่วประเทศมี 12 เขต ดูแลประชาชนเขตละประมาณ 5-7 จังหวัด ในเบื้องต้นนี้กำหนดให้ทุกเขตต้องจัดบริการดูแลรักษาประชาชนตั้งแต่ระดับเชี่ยวชาญ ลงไปถึงบริการระดับพื้นฐานใน 10 สาขา โดย 9 ใน 10 เป็นโรคทางกายที่ประชาชนทุกพื้นที่เจ็บป่วยกันมาก เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ ทันตกรรม เป็นต้น และอีก 1 เรื่อง เป็นบริการผู้ป่วยโรค จิตเวช ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก มีความเกี่ยวข้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สารเสพติด กรมสุขภาพจิตได้สำรวจในช่วง 3 ปีมานี้ พบว่าประชาชนไทย ร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 หรือประมาณ 13 ล้านคน ประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่น เครียด วิตกกังวล และมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวช 10 โรค เช่น โรคจิตเภท  โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศในปี 2554 รวมกว่า 3 ล้านราย คาดการณ์ว่า ใน พ.ศ.2570 นี้ ปัญหาสุขภาพจิตจะมีมากขึ้น เนื่องจากผลพวงของการเปลี่ยนเป็นสภาพสังคมเมืองมากขึ้น พื้นที่ที่เป็นเขตปริมณฑลจะเป็นเขตเมืองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งสภาพความเป็นเมือง ประชาชนใช้ชีวิตต่างคนต่างอยู่ จะทำให้สังคมไทย มีความเปราะบางขึ้น ความอบอุ่นเช่นสภาพของ สังคมแบบชนบท หรือสังคมเกื้อกูลแบบเครือญาติ จะลดน้อยลงเรื่อยๆ

ขณะนี้ผู้ป่วยทางจิตประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 1 ล้าน 9 หมื่นกว่าราย รักษา ที่โรงพยาบาลจิตเวชซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ทั่วประเทศมีแล้ว 17 แห่ง ครอบคลุม 11 เขต รวม 72 จังหวัด และผู้ป่วยที่เหลือดูแล โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาล ชุมชน โดยที่เขตบริการสุขภาพที่ 2 ยังไม่มี โรงพยาบาลจิตเวช ดังนั้นในปี 2557 นี้ กระทรวง สาธารณสุข จึงได้จัดสรรงบประมาณ 360 ล้านบาท ก่อสร้างโรงพยาบาลจิตเวชขนาด 200 เตียง ที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จะแล้วเสร็จและให้บริการสมบูรณ์แบบในปี 2560 ประชาชนที่ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรักษานอกเขต เช่นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 200-300 กิโลเมตร

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 7 มีนาคม 2557