แนวหน้า - นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า สุราเป็นสารเสพติดที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปถึงแม้ว่าหลายหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ถึงโทษพิษภัยของสุราและรณรงค์ไม่ให้ประชาชนดื่มสุรา เนื่องจากสุราเป็นสารเสพติดที่ทำลายสมองและร่างกายของผู้ที่ดื่มในระยะยาว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมายเช่น โรคตับแข็ง ตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคจิตจากการติดสุรา ชักจากการเสพติดสุรา โรคเพ้อคลั่งโรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร จากสถิติของสถาบันธัญญารักษ์ปี 2556พบว่า มีผู้ป่วยเสพติดสุราที่เข้าบำบัดรักษาจำนวน1,388รายเป็นเพศชายร้อยละ89.05และเป็นเพศหญิงร้อยละ10.95 การดูแลผู้ป่วยที่ติดสุราจำเป็นต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคอาการแสดงในผู้ป่วยที่ขาดสุราและผู้ป่วยที่ได้รับสุราเกินขนาด รวมทั้งอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยเสพติดสุรา คือ อาการสมองเสื่อม ความคิด ความจำ การตัดสินใจช้ากว่าปกติ ซึ่งอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพค่อนข้างนานคือ การฟื้นสมรรถนะทางสมองในผู้ป่วยเสพติดสุราการบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดสุรา เภสัชวิทยาของสุราและการออกฤทธิ์ของสุราต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ การฟื้นกระบวนการคิดและการดำเนินกิจกรรมกลุ่มบำบัดสำหรับผู้ป่วยเสพติดสุรา ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางทฤษฎี ร่วมกับทักษะและประสบการณ์จากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายรวมทั้งต้องมีการนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 27 มีนาคม 2557
- 41 views