ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - "กรมโรงงาน" สั่งสแกน 2 พันบ่อขยะชุมชน ทั่วประเทศ ห่วงซุกกากอุตสาหกรรม หลังเจอที่บ่อแพรกษา พร้อมจี้เพิ่มบทลงโทษ ด้านกมธ.สวล.วุฒิสภาเรียกแจงปัญหาบ่อขยะ  จี้กรมอนามัย ออกกฎกระทรวงรับมือการจัดการ

วานนี้(1 เม.ย.)นายขวัญชัย พนมขวัญ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงกรณีไฟไหม้ บ่อขยะแพรกษา

นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวชี้แจงว่า เดิมบ่อขยะที่แพรกษาขอจดทะเบียนเป็นบ่อขยะชุมชน และไม่ได้ออกแบบเป็นบ่อขยะอุตสาหกรรม แต่หลังจากเกิดเพลิงไหม้ 1 วัน ตนได้ลงพื้นที่พบว่ามีชิ้นกากอุตสาหกรรมปะปนอยู่กับขยะมูลฝอยทั่วไป จึงได้หารือร่วมกับผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมบางปู ออกสำรวจโรงงานต่างๆ ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู เพื่อหาที่มาของกากอุตสาหกรรมดังกล่าว และหาที่มาของโรงงานที่แอบลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินคดีลงโทษตามกฎหมาย

ส่วนปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในภาพรวม กรอ. ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ไปสำรวจบ่อขยะ 2,000-3,000 แห่ง ตามที่กรมควบคุมมลพิษได้ให้ข้อมูลว่าเป็นบ่อขยะชุมชน เพื่อตรวจดูความเสี่ยงว่าจะมีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งรวมกับขยะชุมชนในบ่อเหล่านี้หรือไม่ พร้อมกันนี้ทาง กรอ. จะเพิ่มมาตรการควบคุมให้เข้มงวดมากขึ้น และเตรียมแก้กฎหมายเพิ่มโทษให้หนักมากขึ้นด้วย

ด้านนายวันชัย คงเกษม รองผวจ.สมุทรปราการ กล่าวว่า บ่อขยะแห่งนี้เคยเป็นบ่อดินเก่าที่ขุดหน้าดินไปขายมีพื้นที่ขนาด 150 ไร่ ลึก 40 เมตร และถูกนำขยะมาทิ้งต่อเนื่อง และนายกรมพล ได้ขออนุญาตจากท้องถิ่นในปี 2554 แต่ในปี 2555 ถูกปิดไม่ให้นำขยะมาทิ้ง เนื่องจากประกอบกิจการไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.สาธารณสุข และถูกเปรียบเทียบปรับหลายครั้ง ขณะนี้การดำเนินคดีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวน ในข้อหาทิ้งสิ่งปฏิกูลโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกับอีก 2,187 คดีที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ มาแจ้งความไว้ ส่วนทางจังหวัดได้มอบหมายให้โยธาธิการจังหวัดสำรวจบ่อขยะทุกแห่งทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ในสมุทรปราการอย่างละเอียด

ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์บ่อขยะทั่วประเทศ ที่มีการจัดการไม่ถูกสุขลักษณะโดยการเทกองทิ้ง ซึ่งจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)คาดว่า จะมีอยู่ 2,400 แห่ง และมีความเสี่ยง ที่จะเกิดไฟไหม้ได้เองจากก๊าซมีเทนใน กองขยะ เพราะจากการติดตามพบว่า มีไฟไหม้บ่อขยะแล้วอย่างน้อย 6 จุดใน จ.สงขลา บึงกาฬ สุราษฎร์ธานี ตรัง เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงเดือนเม.ย.นี้มีอากาศร้อนเกือบ 40 องศาเซลเซียส จะยิ่งกระตุ้นให้ไฟติดจากก๊าซมีเทนที่ลอยเหนือกองขยะได้ง่าย "ข้อเสนอเบื้องต้นคือขอให้ท้องถิ่นร่วมกับกรมอนามัย สำรวจพื้นที่บ่อขยะในพื้นที่ของตัวเองว่าจุดไหนที่มีความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่สมุทรปราการ และล่าสุดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีภูเขาขยะ 20 แห่งในเขต ต.บ้านป้อม และมีการร้องเรียนจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาหลายครั้ง และในวันที่ 3 เม.ย.นี้ เตรียมจะประชุมร่วมกับทางจังหวัดเพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป ส่วนระยะยาวการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะและการกำหนดอัตราค่ากำจัด ถือเป็นหน้าที่ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องออกกฎกระทรวงรองรับตามมาตรา 20(4)ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 ที่บังคับใช้มากว่า 20 ปีแล้ว" นายสนธิ ระบุ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 2 เมษายน 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง