ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - เข้าสู่ฤดูร้อนถือเป็นช่วงที่คนไทยต้องระวังโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียหลายๆ ชนิด เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ข้อมูลเฝ้าระวังการป่วยย้อนหลัง 10 ปี และคาดการณ์สถานการณ์โรคติดต่อที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ในฤดูร้อนปี 2557 คาดว่าระหว่างเดือน ก.พ. - พ.ค. มีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 3 โรค คือ 1.โรคอหิวาตกโรค อาจมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประมาณ 100 ราย เนื่องจากมีลักษณะการระบาดปีเว้นสองปี และปีนี้เป็นปีที่ครบรอบการระบาด  2.โรคไทฟอยด์ คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2556 หรือเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 200 ราย และ 3.โรคไวรัสตับอักเสบ เอ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วยปี 2556 หรือเฉลี่ยเดือนละ 15 ราย และอาจเพิ่มสูงสุดถึง 100 ราย ในเดือน พ.ค. หากไม่มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่ดี  ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ยังเตือนประชาชน ระวังโรคติดต่อที่มากับฤดูร้อนและช่วงภัยแล้ง สาเหตุจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดที่พบบ่อย คือ อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง และบิด เนื่องจากตั้งแต่ 1 ม.ค. - 24 ก.พ. ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแล้วกว่า 200,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย จึงได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มมาตรฐานความสะอาดโรงงานผลิต น้ำดื่ม น้ำประปา โรงน้ำแข็ง ตลาดสด ส้วมสาธารณะ พร้อมเตือนประชาชนให้ยึดหลัก กินอาหารปรุงสุกด้วยความร้อนและสดใหม่ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ดูแลครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ในช่วงหน้าร้อนของทุกๆ ปี อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งโรคติดต่อที่พบบ่อยมี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

"เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม โรงงานผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตไอศกรีม ตลาดสด  และส้วมสาธารณะ เฝ้าระวังโรคหากมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ให้ส่งทีมสอบสวน โรคเคลื่อนที่เร็ว ออกสอบสวนควบคุม โรคทันที"

ด้านพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า สถานการณ์ของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6 โรค ในปี 2556 พบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,259,408 ราย เสียชีวิต 13 ราย โรคอุจจาระร่วงพบผู้ป่วยมากสุดคือ 1,122,991 ราย เสียชีวิต 12 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 130,653 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคบิด 2,822 ราย โรคไทฟอยด์

2,562 ราย โรคไวรัสตับอักเสบ เอ 372 ราย และโรคอหิวาตกโรค 8 ราย ส่วนในปี 2557 นี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 24 ก.พ. ที่ผ่านมา พบ ผู้ป่วย 6 โรครวม 206,528 ราย มากสุดคือโรคอุจจาระร่วง 186,298 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 19,549 ราย เสียชีวิต 3 รายจากโรคอุจจาระร่วง

"โรคติดต่อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงดิบๆ สุกๆ มีแมลงวันตอม หรือทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารค้างคืน รวมทั้งการมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ การใช้ช้อนหรือแก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ยึดหลักป้องกันการเจ็บป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วย

ความร้อน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม ทำความสะอาดครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ"

อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า สำหรับอาการป่วยของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากสุดในแต่ละปี อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกัน มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลผู้ป่วย ในระยะแรกควรให้ดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออาร์เอส หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้านทานโรคน้อย เสี่ยงชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ

"สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าตลอด 4 เดือน ของ ฤดูร้อนในปี 2557 จะมีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเฉลี่ยเดือนละ 9,000 ราย มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยเดือนละ 80,000- 90,000 ราย มีผู้ป่วยโรคไทฟอยด์เฉลี่ยเดือนละ 200 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ เฉลี่ยเดือนละ 15 ราย และอาจเพิ่มถึง 100 ราย ในเดือนพฤษภาคม กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วไว้กว่า 2,700 ทีมทั่วประเทศ สามารถลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง" ขณะที่ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ย้ำถึงความสำคัญของการบริโภคน้ำสะอาดว่า น้ำสะอาดถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสาธารณสุขที่สำคัญ หากน้ำไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะเฉียบพลัน หรือก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในระยะยาว จากผลกระทบของสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอท ซึ่งจะสะสมร่างกายโดยไม่รู้ตัว และการป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง โดยปกติคนเราต้องดื่มน้ำให้ได้วันละ 2-2.5 ลิตรต่อคน จึงคาดว่าต่อวันมีการดื่มน้ำประมาณ 130 ล้านลิตร

          เขาบอกว่า ที่ผ่านมากกรมอนามัยได้สำรวจและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริโภคในสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ วัด ศาสนสถาน ตลาด ปั๊มน้ำมัน โรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย และดำเนินการในพื้นที่เข้าถึงได้ยาก ถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกลเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และหาทางเลือกที่เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ อบรมการจัดการน้ำสะอาด พฤติกรรมอนามัย เช่น โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศูนย์ศึกษาสงเคราะห์ในพื้นที่ชาวเขา โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งพบว่าได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

"ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2552 พบว่า คนไทยมีน้ำดื่มและน้ำใช้มาจากแหล่งน้ำหลัก 4 ประเภท คือ น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำฝน น้ำประปา และน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำบ่อบาดาล น้ำจากแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น โดยน้ำที่ครัวเรือนไทยใช้ดื่มมากที่สุดคือ น้ำฝน ร้อยละ 35 รองลงมาคือ น้ำดื่มบรรจุขวด ร้อยละ 32 และน้ำประปาร้อยละ 24 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่กรมอนามัย จะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

'โรคติดต่อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจาก การกินอาหารหรือ ดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงดิบๆ สุกๆ มีแมลงวันตอม หรือทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารค้างคืน' โสภณ เมฆธน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 3 เมษายน 2557