ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เลขาธิการ สปสช. เตรียมเสนอบอร์ดฯ ทำตามข้อทักท้วง สป.สธ. ยกเลิกโอนเงิน สสจ.บริหาร มอบสาขาจังหวัด-อปท. ดำเนินการแทน คาดมีผล 1 ต.ค. 2557

เมื่อวันที่ 17 เมษายน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เสนอให้ สปสช.ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณบัญชี 6 แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ในการกระจายเงินไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากทับซ้อนหน้าที่ โดยขอให้ดำเนินการภายในวันที่ 18 เมษายน ว่า ตามที่ สป.สธ. ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ดำเนินการตามเหตุผลข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ สสจ. 8 จังหวัด คือ สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี และตราด โดยพบว่ามีการใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และขอให้ปรับระเบียบใหม่นั้น ข้อเท็จจริงคือ ส่วนแรก ประเด็น สตง.ตรวจสอบพบการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อหาผู้รับผิดชอบ มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 30 เมษายน 2557 ซึ่งการพิจารณาจะดูว่าเป็นความประมาทร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการทุจริต

"กรณี สป.สธ.เสนอให้บอร์ด สปสช.ปรับระเบียบใหม่โดย 1.ให้ยกเลิก นพ.สสจ.เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เพราะเป็นการทำงานทับซ้อนระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้บริการ รวมทั้งให้ยกเลิกการใช้งบบัญชี 6 ซึ่งเป็นเงินตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ สปสช.ส่วนกลางส่งงบไปพักไว้ที่ สสจ.ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทจากงบทั้งหมดกว่าแสนล้านบาท เป็นเงินทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยรับบริการทางการแพทย์ เงินส่งต่อผู้ป่วยไป รพ.ต่างๆ 2.การให้ยกเลิกการจ่ายเงินตามภาระงานกรณีล้างไต และ 3.ยกเลิกการใช้งบค่าเสื่อมของครุภัณฑ์ต่างๆ เบื้องต้นคณะทำงานเตรียมเสนอบอร์ด สปสช. ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ขอให้ดำเนินการตามที่ สป.สธ.ทักท้วง" นพ.วินัยกล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการพิจารณามาตรา 42 และ43 ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ได้ตัดหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขออกจากการดูแลประกันสุขภาพของประชาชน และมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุว่าให้กระทรวงสาธารณสุขโอนกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับงานประกันสุขภาพไปเป็นของ สปสช. แสดงว่า มีการแยกหน้าที่ชัดเจน ดังนั้น จะเสนอต่อบอร์ด สปสช.ว่าขอให้ยกเลิกการให้ สสจ.ทำหน้าที่ สปสช.สาขาจังหวัด รวมทั้งยกเลิก นพ.สสจ. เป็นผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัด และยกเลิกการจัดสรรงบบัญชี 6 ไปยัง สสจ. โดยให้ สปสช.สาขาจังหวัดทำหน้าที่แทน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หากบอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบก็จะดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2558 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับบอร์ด สปสช.ด้วยว่าจะเห็นชอบตามที่เสนอหรือไม่

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--