ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ภาคประชาสังคม” รอลุ้น คกก.บัญชียาหลักแห่งชาติ ปรับหลักเกณฑ์ ช่วย “ผู้ป่วยตับอักเสบซี” เข้าถึงยาเพิ่มขึ้น หลังต่อรองลดราคายารักษาตับอักเสบซีสำเร็จ เผยไทยก้าวหน้ากว่าข้อเสนอฮู แต่กลับติดอุปสรรคการตรวจวินิจฉัยสายพันธุ์ไวรัส ต้นเหตุทำผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา คาดพิจารณา ต.ค. นี้ เรียกร้อง “บริษัท จีลีด ไซน์ส” ลดราคายารักษาตับอักเสบซีชนิดกินเพื่อทุกประเทศเข้าถึงยาได้ พร้อมรอลุ้นอินเดียผลิตยาสามัญ หลังค้านการยื่นจดสิทธิบัตรสำเร็จ  

แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะเจริญรุดหน้าไปมาก มีการคิดค้นนวตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง รวมถึง “ยาที่ใช้ในการรักษาโรค” ส่งผลให้โรคหลายๆ โรคที่เคยเป็นปัญหาในอดีต และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตลงสามารถรักษาหายได้ แต่เป็นที่น่าเสียดาย แม้ว่าปัจจุบันจะมียารักษาโรคเหล่านั้นได้ แต่ปรากฎว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงเนื่องมาจากอุปสรรคทางด้านราคา ซึ่งยาบางรายการเป็นยาที่แพงมาก โดยอ้างเหตุผลมูลค่าในการวิจัย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาและเสียชีวิตลงในที่สุดเช่นเดียวกับในอดีต และหนึ่งในจำนวนยาที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงด้วยเหตุผลด้านราคา คือ “ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี”   

ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาทาง “องค์การอนามัยโลก” (WHO) จึงได้ออกมาเรียกร้องขอให้บริษัทผู้ผลิตยารักษาไวรัสตับอักเสบซีลดราคายาลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยทั่วโลกสามารถเข้าถึงยาได้ ไม่ต้องเสียชีวิจจากมะเร็งตับ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากผู้ป่วยสามารถหายขาดหากได้รับยารักษา อีกทั้งข้อมูลอุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบซีจากข้อมูลการบริจาคโลหิต ประมาณกันว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 3 ของประชากรโลก หรือราว 170 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3.5 แสนคน หากมีการลดราคายายังเป็นการช่วยผู้ป่วยตับอักเสบซีทั่วโลก ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีขณะนี้ คือ ยา Peg Interferon ที่ใช้ฉีดกระตุ้นภูมิต้านทาน โดยใช้ควบคู่กับยา Ribavirin ซึ่งเป็นยากิน 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นในการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 19 ที่กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ได้เริ่มต้นเรียกร้อง เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อตับอักเสบซีร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ด้วยราคายาที่แพงมาก ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษา คนทำงานด้านเอดส์จึงได้เรียกร้องให้บริษัทยาลดราคายา Peg Interferon ลง

แต่ในส่วนประเทศไทยนั้น ปัจจุบันผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบซีต่างเข้าถึงยา Peg Interferon และยา Ribavirin อยู่แล้ว เพราะได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่แพทย์สามารถสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยได้ ประกอบที่ผ่านมาได้มีการต่อรองราคายา ทำให้ราคายานี้ลดลงอย่างมากจากเข็มละกว่าหมื่นบาทเหลือเพียง 3 พันบาทเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่ายา Peg Interferon จะมีสามัญในประเทศอินเดีย แต่หลังจากชั่งน้ำหนักแล้ว พบว่า ราคายาไม่หนีห่างกันมากนั้น การใช้ยาสามัญจึงอาจไม่คุ้มค่า แต่ในอนาคตหากราคายาสามัญถูกลงก็อาจมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ยาสามัญแทน

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การรักษาผู้ป่วยตับอักเสบซี มีประเด็นในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากมีการระบุว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับยาตับอักเสบซียาวนานกว่าผู้ป่วยตับอักเสบซีทั่วไป คือต้องรับยาต่อเนื่อง 48 สัปดาห์ จากระยะเวลาการรักษาปกติที่ 24 สัปดาห์ จึงทำให้คนเหล่านี้ถูกมองว่าไม่คุ้มค่าในการรักษา ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าไม่ถึงยาตับอักเสบซี แต่หลังจากที่มีการวิจัยที่จัดทำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ชี้ว่า ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถรับยาเพียง 24 สัปดาห์ ก็หายขาดเช่นเดียวผู้ป่วยตับอักเสบซีทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการรักษาโรคตับอักเสบซีด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับหลักเกณฑ์ข้อบ่งชี้การใช้ในคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ในการรักษาหลังจากที่บริษัทยายอมลดราคายา Peg Interferon ลงแล้ว พบว่าผู้ป่วยยังคงมีปัญหาการเข้าถึง เนื่องจากข้อบ่งชี้การใช้ยา ได้ระบุสายพันธุ์ไวรัสในการรักษา ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องมีการตรวจวินิจฉัยทางแลปก่อนที่หมอจะจ่ายยาได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจนี้แพงมาก ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้  ขณะที่หน่วยบริการเองก็ไม่อยากแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จึงกลายเป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาทางโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จึงศึกษาความครอบคลุมการรักษาไวรัสตับอักเสบซีทุกสายพันธ์ในยา Peg Interferon ซึ่งหากผลข้อบ่งชี้การใช้ยาออกมาว่า ยานี้สามารถรักษาผู้ป่วยตับอักเสบในสายพันธุ์ต่างๆ แบบไม่หนีกันเท่าไหร่ จะมีการทบทวนปรับหลักเกณฑ์การให้ยาโดยไม่จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยสายพันธุ์ ซึ่งคาดวาจะมีผลจะออกมาในเร็วๆ นี้ และจะมีการปรับหลักเกณฑ์การให้ยาในเดือนตุลาคมนี้

“ต้องบอกว่าน่าเสียดาย เพราะโรคตับอับเสบซีผู้ป่วยสามารถหายขาดได้หากได้รับยาโดยการรักษาเพียงครั้งเดียว แต่ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะต่อรองราคากับบริษัทยาได้แล้ว และไปไกลกว่าข้อเรียกร้องขององค์การอนามัยโลก แต่กลับติดเงื่อนไขการตรวจที่ต้องหาสายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบก่อน ซึ่งค่าตรวจค่อนข้างแพง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองก็ไม่เตรียมงบก่อนนี้ไว้ ขณะที่โรงพยาบาลเองก็ไม่อยากจ่าย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะรอดชีวิต ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการปรับแก้” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

นอกจากยา Peg Interferon ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยตับอักเสบซีแล้ว นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องใหม่ที่น่าจับตาและอาจต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันมียารักษาไวรัสตับอักเสบซีตัวใหม่ของบริษัท จีลีด ไซน์ส (Gilead Science) ชื่อยา sofosbuvir ซึ่งเป็นยากินและมีประสิทธิภาพในการรักษาดีกมาก และแพทย์เองก็สนับสนุนการใช้ยานี้ เพราะช่วยลดความยุ่งยากในการรักษา ส่งผลให้ผลในการรักษาดีกว่า แต่ทั้งนี้เนื่องจากยาดังกล่าวยังติดสิทธิบัตรยา ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายผู้ป่วยกำลังเช็คว่ามีการยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยหรือไม่ แต่ที่ทราบคือมีการยื่นจดในประเทศอินเดีย ซึ่งทางภาคประชาสังคมที่นั่น โดย Initiative for Medicines, Access & Knowledge (I-MAK) ได้ยื่นคัดค้าน โดยระบุว่าไม่ครอบคลุมคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิบัตรยาได้ เพราะยาตัวนี้ดัดแปลงมาจากสารประกอบที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งกฎหมายของอินเดียจึงไม่อนุญาตให้บริษัทแสวงหากำไรจำนวนมหาศาลจากยาประเภทนี้ ทั้งนี้หากอินเดียสามารถคัดค้านการจดสิทธิบัตรได้สำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการเพิ่มน้ำหนักว่ายานี้ก็ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรในไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทางบริษัทผู้ผลิตยา ได้ร่วมมือกับองค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านสิทธิบัตรร่วม โดยจะให้สิทธิประเทศกำลังพัฒนาสามารถจัดซื้อยานี้ได้ในราคาถูก ซึ่งต้องบอกว่ายานี้มีราคาแพงมาก ค่ายาในการรักษาอยู่ที่หลักล้านบาท แต่จะให้สิทธิประเทศกำลังพัฒนาจัดซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก และประเทศไทยเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่จะซื้อยาในราคาดังกล่าวได้ เนื่องจากเราถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้อยู่ในระดับกลาง ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ระดับกลางคงไม่มีโอกาสได้ใช้ยานี้ ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการเรียกร้องว่าในการให้สิทธิราคายาควรแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็นหลายระดับ

“ขณะนี้ทางภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ อยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อเจรจา หากบริษัทยาไม่ยอมลดราคายา แผนถัดมาคือการรอการฟ้องร้องของภาคประชาสังคมเพื่อถอนสิทธิบัตรยาในอินเดีย ซึ่งหากชนะผู้ป่วยก็มีโอกาสใช้ยาสามัญแทน ซึ่งขณะนี้บริษัทยาในอินเดียเริ่มผลิตแล้ว และมีราคาถูกกว่าเป็น 10 เท่า” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว 

นายนิมิตร กล่าวต่อว่า ต้องบอกว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาสัมคมในระดับนานาชาติเพื่อเข้าถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบซีมีความแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบ้านเราก็ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามนอกจากความเคลื่อนไหวกลุ่มภาคประชาสังคมแล้ว อยากให้รัฐบาลเองช่วยส่งเสียงในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักในการเคลื่อนไหวให้กับภาคประชาสังคมมากขึ้น ทั้งนี้จากกรณียารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีปัญหาการเข้าถึงยาอยู่มาก และการเรียกร้องให้บริษัทยาลดราคายาเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลานาน อย่างกรณีของยาต้านไวรัสเอดส์ จะเห็นได้ว่าต้องใช้หลายวิธีกว่าที่จะทำให้บริษัทยายอมลดราคาได้ ซึ่งในระหว่างนั้นมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลง เพราะการเข้าไม่ถึงยา