ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยรัฐ-ปมร้อน!...ปลัดกระทรวงสาธารณสุขอ้างถึงกรณี สตง.ทักท้วงการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนบัญชี 6 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในฐานะ สปสช.สาขาจังหวัด

และรองปลัดเสนอให้ยกเลิกการมอบหมายให้ สสจ.เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช. เพราะผิดหลักการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการออกจากกัน

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า การแยกระหว่างผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการสาธารณสุข เป็นหลักการที่สอดคล้องกับกฎหมายอยู่แล้ว

นายแพทย์ประทีป บอกว่า ตอนที่มีการขอให้ สสจ. 15 แห่งมาเป็นสาขาของ สปสช. เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพก็คือให้อำนาจพนักงานประกันสุขภาพ มีอำนาจที่จะขอให้หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เป็นสำนักงานสาขาได้ ตอนนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพมองว่า ถึงแม้จะทับซ้อนแต่เพื่อให้ระบบบริหารจัดการในพื้นที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็เลยมีประกาศออกมา

“แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานต่างๆได้มีการพัฒนาระบบงานเพิ่มขึ้น สปสช.ได้มีการหาเขต ขณะเดียวกันท้องถิ่นก็มีบทบาทในการดูแลตัวเองมากขึ้นๆ ในส่วนนี้โดยความเห็นของ สปสช.ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวงที่ขอให้มีการยกเลิก เพื่อแก้ไขปัญหาทับซ้อนในพื้นที่”

ปัญหามีเพียงว่า...หากมีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจะต้องทำให้ระบบไม่กระทบ ประชาชนต้องเข้าถึงบริการได้เหมือนเดิม อาจใช้ศักยภาพสำนักงาน สปสช.สาขาเขต ทำหน้าที่แทน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เสริมว่า ประเด็นทักท้วงจาก สตง.จะตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นกลางมาร่วมดูข้อเท็จจริง ถ้าเป็นการเข้าใจผิดหรือไม่จงใจให้เกิดความเสียหายก็จะชี้แจงกับ สตง.ได้

การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเรื่องสำคัญของการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย โดยยึดหลักการกระจายอำนาจและสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการ

12 ปีมาแล้วที่ระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศผ่านร้อนผ่านหนาวมา เพื่อระบบที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ระบบจะต้องกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ ไปยังข้าราชการส่วนท้องถิ่น กระจายการจัดการให้เข้าไปใกล้ประชาชนมากที่สุด เพื่อที่จะทำให้ระบบสามารถรับรู้ปัญหา ได้เร็วและตอบสนองปัญหาได้เร็ว

ประการต่อมา ต้องปฏิรูประบบให้มีความเท่าเทียมกัน เราก็รู้กันดีอยู่ว่าระบบในประเทศไทยปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำกัน เหลื่อมล้ำกันระหว่างกองทุน หรืออาจระหว่างพื้นที่ ต้องเน้นหรือสร้างระบบที่มีความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นทิศทางเดียวกัน

“เราต้องเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุ จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า...ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน”

นายแพทย์ประทีป ยกตัวอย่าง “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” เป็นโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขที่ออกนอกระบบภายใต้กฎหมายองค์การมหาชน คือการให้ประชาชนในพื้นที่เป็นบอร์ดด้านนโยบายของโรงพยาบาล ไม่ใช่แค่ทำการหาทุนให้โรงพยาบาล แต่เป็นกรรมการที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายกับทิศทางของโรงพยาบาล

ด้วยวิธีการที่ต้องทำคือคัดเลือกผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่ต้องเป็นมืออาชีพ โดยขึ้นอยู่กับสัญญาจ้าง ที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากพื้นที่ ท้องถิ่น

“คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องแยกแยะ เชื่อว่าโดยทั่วไปคนในกระทรวง คนในโรงพยาบาลต้องการให้รูปแบบบริการของตัวเองมีประสิทธิภาพ ดูแลคนในพื้นที่ได้ สามารถบริหารจัดการเรื่องค่าตอบแทนต่างๆได้”

ถ้ามองเห็นภาพนี้ชัด แล้วไม่กระทบต่อฐานะความมั่นคงส่วนตัวจนเกินไป ความเป็นข้าราชการก็ยังมีอยู่...สบายใจที่จะกระจายอำนาจออกไป ถ้าแยกแยะได้จะเป็นการบริการสุขภาพคนไทยที่มีประสิทธิภาพมาก

ต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึงนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าข้อ 5...“ให้ประชาชนมีทางเลือกเมื่อไปรับบริการ โดยเฉพาะหน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ”...ถ้าเราสามารถที่จะปฏิรูประบบการจัดการที่ทับ ซ้อนออกมาได้ ตัวระบบบริการที่จะเป็นทางเลือกทั้งหลายจะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการพื้นฐาน

“ในระดับโรงพยาบาลก็มีเอกชน องค์กรท้องถิ่นที่สร้างหน่วยบริการของตัวเองขึ้นมา หรือแม้กระทั่งตัวเลือกบริการอื่น เช่น ร้านยา คุณภาพ ก็จะมีความเป็นอิสระ เปิดช่องให้มีทางเลือกเพิ่มเติมมากขึ้น”

สถานการณ์วันนี้มองจากมุมคนนอกวงการหลักประกันสุขภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนต่างคนต่างเดิน ในอนาคตระบบประกันสุขภาพจะลดเหลื่อมล้ำได้อย่างไร?

ประเด็นแรก แต่ละกองทุนมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกันตั้งแต่การออกแบบสิทธิประโยชน์ วิธีการชดเชย และการให้ทางเลือกกับประชาชน โดยที่ สปสช.กับกองทุนประกันสังคมมีการออกแบบการเงินที่ใกล้เคียงกันคือเหมาจ่ายเป็นหลัก แต่กว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มให้มีการช่วยเหลือกัน เดินไปด้วยกันมากขึ้น

ในการบริหารจัดการ กองทุนประกันสังคมมีแนวโน้มพึ่งพิงการบริหารจัดการของ สปสช.พอสมควร ภารกิจข้างหน้ามีเรื่องของการชดเชยทางสังคมต่างๆ บำนาญ ฯลฯ ด้านการแพทย์ก็จะประสานความร่วมมือมากขึ้น

“ที่ผ่านมาประกันสังคม ภาระหลักก็คือเรื่องการรักษาพยาบาล ภาระทางสังคมยังไม่เกิด แต่ตอนนี้จะเริ่มเกิดแล้ว จะเป็นหน้าที่หลักของเขา ในภาพรวมแนวโน้มแต่ละกองทุนจะเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น...”

หมายความว่า...แต่ละกองทุนจะอยู่ภายใต้การจัดการเดียวกันมากขึ้น เช่น ระบบข้อมูลเดียวกัน การออกแบบทางวิชาการ การชดเชยต่างๆ ผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ เครื่องมือเดียวกัน จะมีการพึ่งพากันมากขึ้น

“การบริการสุขภาพอาจจะแยกกันคนละกองทุนเพราะแหล่งเงิน แต่ก็จะเกิดเสน่ห์คือแต่ละกองทุนจะแข่งขันกันในระดับหนึ่ง แต่ว่าการบริหารจัดการจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น”

วกกลับมากรณี สปสช.กับกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประทีป มองว่า เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ร่วมกัน ที่ผ่านมาจริงๆแล้วก็มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้คิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเฉพาะคนมากกว่า แต่ตัวระบบยังทำงานไปได้มีประสิทธิภาพ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ สปสช.ได้เรียนรู้วิธีที่จะบริหารจัดการความร่วมมือว่าควรจะต้องทำอะไรยังไง ไม่ต้องกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อระบบ ผลกระทบเฉพาะหน้าคงมีอยู่ แต่พื้นฐานการทำงานจริงๆจะไม่กระทบมากมาย...

เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับนโยบายต้องการหยุด หรือเลิกระบบ...จะกระทบเยอะ

“เชื่อว่า...คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะว่าตัวระบบหลักประกันสุขภาพ รองรับเทรนด์สังคมทุกประเทศอยู่แล้ว ประสบการณ์ประเทศไทยก็ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศเยอะมาก และภายในระบบไทยกันเองก็ได้รับการเรียนรู้ในแง่การฟื้นตัวของผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลต่างๆพอสมควร”

ที่จะเป็นจุดชี้ขาดก็คือประชาชน...กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ที่เคยเข้า ไม่ถึงตัวระบบจะไม่ยอมแน่นอน...หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังต้องเดินหน้าต่อเพื่อคนไทย ภายใต้นโยบาย...“ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพ เคียงข้างประชาชน”

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 2 พฤษภาคม 2557