ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่ายอย่างดีที่สุด และให้ทุกแห่งเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดเกิน 100 % เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยได้วางแผนดูแลพื้นที่การชุมนุมใน กทม. ที่สวนลุมพินี สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และถนนอักษะ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยจะมีการประชุมประเมินติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ซึ่งในจุดชุมนุมที่ กทม. ให้ทีมหน่วยแพทย์กู้ชีพชั้นสูง 7 ทีม จาก รพ.ราชวิถี เลิดสิน นพรัตนราชธานี และ รพ.รามาธิบดี ดูแลพื้นที่ชุมนุม 2 จุดคือ ที่สวนลุมพินี และบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งจะมีพิธีทำบุญประเทศ คาดว่าจะมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก โดยประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กทม. และวชิรพยาบาล รวมทั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและร่วมกตัญญู ส่วนที่จุดศูนย์ราชการฯ ถนนเจ้งวัฒนะ ได้ให้ รพ.พระนั่งเกล้า ดูแลร่วมกับ กทม. ทั้งนี้ ได้ให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินเป็นศูนย์ประสานกับโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลจัดทีมหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินจำนวน 9 ทีม หมุนเวียนเสริมการทำงานในพื้นที่ กทม. และถนนอักษะ ร่วมกับ กทม. อย่างต่อเนื่อง และสำรองทีมชุดที่ 2 ไว้อีก 4 ทีม เตรียมพร้อม ณ ที่ตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา

สำหรับจุดชุมนุมที่ถนนอักษะ จ.นครปฐม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการชุมนุม ได้วางแผนเตรียมการตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ปฏิบัติงานร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและร่วมกตัญญู กรณีมีความจำเป็นจะเพิ่มศูนย์ส่วนหน้าที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ โดยมีหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินชั้นสูงจากโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครปฐมไม่ต่ำกว่า 8 ทีม ให้การดูแลผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่ หากจำเป็นได้เตรียมทีมจาก รพ. ในจังหวัดราชบุรีพร้อมให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังโรคติดต่อ 2 กลุ่มสำคัญที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการชุมนุม ซึ่งมีประชาชนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สำคัญในขณะนี้ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 หรือโรคเมอร์ส-โควี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง พร้อมทั้งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มบุคลากรซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง และหากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ขอให้รักษาให้เร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิต และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมายังไม่พบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ชุมนุม

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556-2 พฤษภาคม 2557 มีผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองรวม 791 ราย ขณะนี้นอนรักษาในโรงพยาบาล 5 ราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 25 ราย