ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภ.เตือนผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เลี่ยงซื้อวิตามิน อาหารเสริมกินเอง เหตุเสี่ยงเจอส่วนผสมธาตุเหล็ก มีโอกาสเกิดพิษ และโรคแทรกซ้อน ระบุต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง 

ภญ.นิภาพร ชาตะวิริยะพันธ์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปยังลูก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีการแตกตัวเร็วกว่าปกติทำให้เกิดอาการซีด ลักษณะเฉพาะผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียได้แก่ตัวเหลือง ซีด จมูกบี้ โหนกแก้มสูง ท้องบวม ตัวไม่โต การรักษาโดยการให้เลือด เป็นการนำเลือด จากผู้บริจาคถ่ายให้ผู้ป่วยเพื่อรักษาอาการโลหิตจาง ซึ่งการให้เลือดเป็นประจำนั้น ทำให้ธาตุเหล็กสะสมมากเกินไป จำเป็นต้องได้รับยาขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายควบคู่เป็นประจำ สำหรับการกินยาขับธาตุเหล็กจะคำนวณจากน้ำหนักร่างกายของผู้ป่วย และกินยา 3 เวลา ทั้งนี้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ที่สำคัญไม่ควรซื้อวิตามิน แร่ธาตุหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก
       
ภญ.นิภาพร กล่าวอีกว่า การดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียอาหารที่เหมาะสม ควรเป็นประเภทให้โปรตีนสูง ไข่ นม ผักใบเขียว ระวังอย่ารับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของเหล็ก เช่น ตับสัตว์ เลือด ผักบางชนิดอย่าง ผักขี้เหล็ก ผักคะน้า รวมไปถึงช็อกโกแลต ที่สำคัญห้ามกินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก ทำให้เกิดการดูดซึมและสะสมของธาตุเหล็กในร่างกายอย่างมากมาย อาจเกิดผลแทรกซ้อนต่อการทำงานระบบหัวใจ (หัวใจล้มเหลว )โรคตับ (ตับแข็ง) นิ่วถุงน้ำดี เป็นต้น ออกกำลังกายเท่าที่จะทำได้ไม่เหนื่อยเกินไป เนื่องจากมีกระดูกเปราะหักง่าย 
       
ภญ.นิภาพร กล่าวว่า ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยพบเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ปีละกว่า 4,000 ราย ประชาชนมียีนโรคนี้แฝงในตัวกว่า 22 ล้านคน ซึ่งตลอดช่วงอายุขัยของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย 1 คน จะมีค่ารักษาพยาบาลประมาณกว่า 6 ล้านบาท ทั้งนี้การรักษาด้วยยาขับธาตุเหล็ก deferiprone (GPO-L-ONE) ขององค์การเภสัชกรรมได้บรรจุยาดังกล่าวไว้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า