ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคตับอักเสบเรื้อรังก็เหมือนกับโรคเรื้อรังหลายชนิด คือ การดำเนินโรคช้า ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าตับ จะเสียหายจนเข้าสู่โรคตับระยะสุดท้าย ซึ่งมักจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากมาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และในที่สุดเมื่อเป็นโรคตับระยะสุดท้ายนานพอก็จะเกิดมะเร็งตับในที่สุด   ทุกประเทศทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ให้ความสำคัญกับโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสเป็นอย่างมาก  สำหรับประเทศไทยรัฐบาลร่วมกับส่วนองค์กรนอกรัฐได้ตระหนักถึงปัญหานี้ก็พยายามรณรงค์อย่างเต็มที่ เช่น ที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กำลังพยายามอยู่ขณะนี้  ซึ่งการรณรงค์เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันการรักษาทั้งสองโรคตับอักเสบจากไวรัส บี (B) และ ซี (C)] ได้น่าพอใจมากแล้ว ไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบ และเกิดโรคตับมีหลายตัว เรียงตามอักษรโรมันคือ เอ (A) บี (B) ซี (C) ดี (D) และ อี (E) แต่ที่ ทำให้เกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรัง มีเพียง 2 ชนิดคือ บี (B) และ ซี (C)

ไวรัสตับอักเสบ บี (B)

ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ และทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ เมื่อเป็นโรคนี้ในระยะเฉียบพลันแล้ว มีโอกาสหายขาดได้ประมาณ 90% แต่เมื่อเป็นโรคตับระยะสุดท้าย คือ ตับแข็งที่เต็มไปด้วย ภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องมานน้ำ หลอดเลือดดำของหลอดอาหารพองขอดแล้วแตกออก เกิดเลือดออกจากทางเดินอาหาร ค่าใช้จ่ายหรือภาระการดูแลก็จะสูงขึ้นทันที อย่างมหาศาล ยังไม่ต้องพูดถึงการดูแลผู้ป่วยด้วยมะเร็งตับที่มีรายจ่ายมากเกินบรรยาย แต่โชคดีที่ว่าตับของเรานั้นเป็นอวัยวะอัศจรรย์ ถ้าไม่มีความเสียหายซ้ำๆ ต่อเนื่องแล้ว ก็จะกลับฟื้นตัวจนเป็นปกติหรือเกือบปกติได้ แม้ว่าเดิมจะเป็นตับแข็งไปแล้ว แต่ถ้ากำจัดไวรัสออกได้  ตับสามารถฟื้นฟูตัวเองจนเกือบปกติได้และที่สำคัญคือ โอกาสในการเป็นมะเร็งก็จะค่อย ๆ ลดลงเท่าคนปกติเลยทีเดียว แต่ปัญหาคือ คนส่วนมากไม่รู้เลยว่าตัวเอง ติดเชื้ออยู่ การที่จะรู้ได้ก็ต้องไปเจาะเลือด ตรวจ เดิมการเจาะเลือดตรวจต้องทำที่โรงพยาบาลหรือห้อง ปฏิบัติการที่มีขีดความสามารถ แต่ปัจจุบันในขั้นต้นสามารถ ตรวจได้จากเลือดที่ปลายนิ้ว และรู้ผลเกือบทันที โรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการหลายแห่งมีบริการตรวจในราคาไม่แพง และระหว่างปีก็มีกิจกรรมของมูลนิธิโรคตับ ที่เราสามารถไปขอเจาะตรวจได้โดยไม่คิดมูลค่า

ไวรัสตับอักเสบ ซี (C)

สำหรับตับอักเสบจากไวรัส ซี (C) ในประเทศไทยขณะนี้ สามารถรักษาให้หายได้สูงถึง 80% และแม้จะไม่หายก็ช่วยชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลงได้ ส่วนต่างประเทศก็มียาใหม่ ๆ ที่ใช้ง่ายขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาไปมากและได้ผลเกือบ 100% แล้ว ซึ่งก็หวังว่าในประเทศของเรา คงจะมียาใหม่นี้ใช้ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โรคนี้เป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อตรวจเลือด พบภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบซี (เป็นภูมิของร่างกายที่บอกว่ามี หรือเคยมี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แต่ไม่ใช่ภูมิป้องกันโรค) เมื่อตรวจพบดังนี้ แพทย์จะตรวจเลือดต่อว่าในเลือดมีเชื้อหรือไม่

เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (B) และ ซี (C) ติดต่อได้อย่างไร ?

เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีสามารถติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อและน้ำหลั่งอย่างอื่น ๆ  สามารติดต่อกันได้โดย 1. มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย   2.ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 3.ใช้เข็มสักตามตัว หรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน รวมถึงการเจาะหู   4.ใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน   5.รักร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้ออยู่    6.สัมผัสเลือด  น้ำเลือด  น้ำคัดหลั่ง ผ่านเข้าทางบาดแผล และ 7. แม่ที่มีเชื้อสามารถติดต่อไปยังลูกได้ในขณะคลอด (โอกาสติด 90%)

หมายเหตุ : เชื้อนี้ไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหาร หรือน้ำดื่ม การให้นม การจูบ (ถ้าปากไม่เป็นแผล)

อาการของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี (B) และ ซี (C)   

อาการจะมีลักษณะ 1.ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา 2.คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 3.อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง 4.ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ  5.ปัสสาวะสีเข้ม 6.บวมหากตรวจพบว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ไม่ต้องตกใจเพราะมีทางรักษาได้ โดยทั่วไปแนะนำว่า ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเหมาะสมกว่า หรืออาจเป็นอายุรแพทย์ทั่วไปหรืออายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารก็ได้    ทั้งนี้เพราะวิทยาการเกี่ยวกับตับอักเสบจากไวรัสพัฒนาไปมากความรู้ ความเข้าใจเปลี่ยนแปลงไปมากในยี่สิบปีที่ผ่านมา หากมิใช่อายุรแพทย์ก็อาจมิได้ติดตามความก้าวหน้า อาจให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนได้ขอเชิญชวนให้ทุกคนไปกันที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เจาะเลือดตรวจว่าเรามีเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือไม่ เพื่อความสบายใจ และที่สำคัญคือถ้าเป็นก็รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

ผู้เขียน รศ.นพ.ศตวรรษ ทองสวัสดิ์ สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย