ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เตือนประชาชนอย่าได้ซื้อยาใดๆ ผ่านทางเว็บไซต์ โดยเฉพาะยาที่จะนำมาทำแท้ง เพราะเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแน่นอน อาจได้รับยาปลอม ยาเสื่อมคุณภาพ

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า แม้ อย. จะมีการตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ที่ขายยาทำแท้งไซโตเท็ค และยาอาร์ยู 486 อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่หมดสิ้น อย. จึงขอเตือนประชาชนอย่าได้ซื้อยาใดๆ ผ่านทางเว็บไซต์ โดยเฉพาะยาที่จะนำมาทำแท้ง เพราะเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแน่นอน อาจได้รับยาปลอม ยาเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในการเก็บรักษา และอาจมีส่วนประกอบสำคัญของยาในปริมาณที่เกินกำหนด จนอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ที่สำคัญยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมด้วย
       
ทั้งนี้ ยาไซโตเท็ค จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาแผลของลำไส้เล็กส่วนต้นของกระเพาะอาหาร รวมทั้งแผลที่เกิดเนื่องจากการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในผู้ป่วยโรคข้อกระดูกอักเสบ และป้องกันการเกิดแผลของกระเพาะอาหารที่เกิดจากการใช้ยา NSAIDs เช่น แอสไพริน หรือใช้ในคนไข้ที่อยู่ในระยะเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารแทรกซ้อน เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และที่สำคัญมีข้อห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่วางแผนการตั้งครรภ์
“จากผลข้างเคียงที่ระบุเป็นข้อห้ามใช้ยาดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้มีการนำยามาใช้ในอย่างผิดวิธีและผิดกฎหมาย ซึ่งผลที่ตามมานั้นอาจทำให้มดลูกเกิดการรัดตัวอย่างรุนแรงจนเกิดการปริแตกของมดลูก และอาจเกิดภาวะตกเลือดในช่องท้องอย่างเฉียบพลัน จนช็อกจากการเสียเลือดมากและเสียชีวิตในที่สุด สำหรับยาอาร์ยู 486 ที่โฆษณาอวดอ้างเป็นยาทำแท้งนั้น จริงๆ แล้ว ยาดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย. เนื่องจากยาชนิดนี้เข้าข่ายเป็นยาที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม และอาจมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่าย จึงไม่สามารถนำมาจำหน่ายในไทยได้” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า การจะทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม กรณีการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยนั้น แพทยสภาได้ออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้ 1. เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ 2. เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน