ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เผย 4 เดือน ก่อนประกาศกฎอัยการศึก ประชาชนโทรปรึกษาสายด่วน 1323 กว่า 1.2 หมื่นครั้ง เครียดจากเหตุการณ์บ้านเมือง 3.5% แนะให้ใช้ชีวิตตามปกติ หากิจกรรมผ่อนคลาย เตือนอย่าใช้โซเชียลมีเดียระบายเครียดการเมือง เสี่ยงขัดกฎอัยการศึกสั่งห้ามโพสต์ข้อความปลุกระดม ชี้ช่องคุยผ่านแชตกับคนคอการเมืองเดียวกันดีกว่า

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากรายงานการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ สายด่วน 1323 ตั้งแต่เดือน มกราคม – เมษายน ที่ผ่านมา พบ มีการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 12,104 ครั้ง ผู้รับบริการเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 21-40 ปี ปัญหาสุขภาพจิต ที่ขอรับบริการมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 28.83  2. โรคทางจิตเวช ร้อยละ 23.65  3.ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 7.46  4. ปัญหาเรื่องเพศ ร้อยละ 7.31 และ 5. ปัญหาพฤติกรรม ร้อยละ 4.78

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในจำนวนประชาชนที่มีความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 3.53 ระบุว่า มีความเครียด/วิตกกังวลกับสถานการณ์บ้านเมือง โดยช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ จะขอรับบริการปรึกษามากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงของการเตรียมการเลือกตั้ง การเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาทางการเมืองที่ทำให้เครียด/วิตกกังวล ได้แก่ เครียด/วิตกกังวลจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ญาติ/คนใกล้ชิดที่เข้าร่วมชุมนุมมีอารมณ์รุนแรง โกรธแค้น เมื่อตนเองรับฟังข้อมูลข่าวสารการเมืองผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง การพูดคุยกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ทำให้รู้สึกเครียด ขณะที่คนในครอบครัวเมื่อรับ  ฟังข่าวสารแล้วเกิดอารมณ์หงุดหงิด มีอารมณ์ร่วมไปกับสถานการณ์สุดท้ายมาลงกับคนในครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยง เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ตลอดจน เครียดจากการประกอบอาชีพไม่ได้/รายได้ลดลง การเดินทางลำบาก กลัวเกิดอันตรายกับคนในครอบครัว/เพื่อนที่เข้าไปร่วมชุมนุม และกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ระดับความเครียดของคนไทยจะมีค่าคงที่ แต่เมื่อมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเข้ามา ระดับความเครียดก็จะเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อุทกภัย แผ่นดินไหว ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองก็เป็นอีกวิกฤตหนึ่งที่พบว่าทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น และถือเป็นปฏิกิริยาปกติที่เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม หากเราดูแลจิตใจตัวเองไม่ดี ไม่มีการผ่อนคลายความเครียด ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเราแน่นอน และที่แย่มากไปกว่านั้น คือ การเสียความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตมีแผนติดตามความเครียดของคนไทยและเตรียมเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์บ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง

เพื่อลดความเครียด/วิตกกังวลในช่วงนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เน้นย้ำว่า 1. ประชาชนควรดำเนินรูปแบบการใช้ชีวิตหลักๆ ได้แก่ กิน อยู่ หลับ นอน ให้เป็นปกติมากที่สุด และหาวิธีผ่อนคลายตัวเองหรือจัดการกับความเครียดบ้าง เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ หายใจคลายเครียด เป็นต้น  2.ไม่ควรติดตามข่าวสารต่อเนื่อง เป็นเวลายาวนาน ให้มีช่วงพักบ้างเพราะสมองของเราถ้าใช้เวลาจดจ่อกับอะไรช่วงหนึ่งแล้วต้องการเวลาพัก ประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง 3. พึงตั้งสติและระมัดระวังการรับหรือส่งข้อมูลข่าวสารที่จะสร้างความเครียด เพิ่มความโกรธ ความเกลียดแค้นชิงชัง โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบัน กอ.รส. ได้ออกคำสั่งขอความร่วมมือกับสังคมออนไลน์ ห้ามเผยแพร่ข้อความปลุกระดม ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งสร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ที่เคยระบายอารมณ์ ความรู้สึกอึดอัดผ่านโซเชียลมีเดีย ควรเปลี่ยนเป็นพูดคุยหรือส่งข้อความกับเพื่อนที่เข้าใจกันเพื่อระบายความอึดอัดออกไป  4.รักษาสมดุลชีวิต ทำหน้าที่การงานอย่างเต็มศักยภาพ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมผ่อนคลายร่วมกัน ถอนตัวออกจาก เหตุการณ์การเมืองสักระยะหนึ่งบ้าง และที่สำคัญ  5. รักษาสายสัมพันธ์ที่ดีของทุกคนในสังคมให้คงอยู่ อย่าให้เรื่องของการเมืองเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป เมื่อเกิดความเห็นต่าง ควรคุยกันโดยมีกติการ่วมกันว่า จะคุยเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ความคิดเห็นของอีกฝ่าย โดยต้องรับฟังกัน ไม่มุ่งเอาชนะกัน แต่ถ้าคุยกันไปแล้วรุนแรงขึ้นจนระงับอารมณ์ไม่ได้ ก็ให้เลิกคุย ไม่ต้องใช้เหตุผลมาเถียงกัน  โดย สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ขอรับบริการในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตได้ทุกแห่งทั่วประเทศในวันและเวลาราชการ