ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้ (5 มิ.ย.57) กรมสุขภาพจิต โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ในการดำเนินการพัฒนางานวิจัยและศักยภาพทางวิชาการของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและประสาทวิทยาศาสตร์ ณ รร.รอยัลริเวอร์ กทม.

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้มี นโยบายในการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญในการพัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศที่มีความเป็นเลิศในงานบริการและวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนในทุกกลุ่มวัยทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย ผ่านกลไกการขับเคลื่อนในระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาหน่วยบริการจิตเวชสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) โดยมีเป้าหมายให้หน่วยบริการจิตเวชในสังกัดกรมฯ สามารถพัฒนาองค์ความรู้และสร้างต้นแบบการดูแลรักษาบนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการวิจัย/พัฒนาตามประเด็นความเป็นเลิศของตนเอง ซึ่งประเด็นความเป็นเลิศของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา คือ ความเชี่ยวชาญด้านสมองและจิตใจ (Brain Mind Center)

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนางานวิจัยและศักยภาพทางวิชาการของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและประสาทวิทยาศาสตร์สู่การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านสมองและจิตใจของประเทศจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินการพัฒนางานวิจัยและศักยภาพทางวิชาการของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและประสาทวิทยาศาสตร์ ระหว่าง สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กับ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ  ได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียงยาวนานด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในสาขาประสาทวิทยาศาสตร์

แนวทางการดำเนินงานตามข้อตกลง ประกอบด้วย

1.ความร่วมมือในการผลิตผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านNeuroscience in Mental Health and Psychiatry (ประสาทวิทยาศาสตร์ทางสุขภาพจิตและจิตเวช)

2.ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของบุคลากรด้าน Neuroscience in Mental Health and Psychiatry (ประสาทวิทยาศาสตร์ทางสุขภาพจิตและจิตเวช)

3.ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายทางวิชาการด้านสุขภาพจิตและประสาทวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติ

4.ความร่วมมือในการดำเนินงานจัดให้มีคณะทำงานเพื่อว่างแนวทางและประสานให้เป็นไปตามข้อตกลง

ทั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี

ด้าน นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลผู้มารับบริการของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบ ผู้ป่วยนอกจิตเวช มีจำนวนมากกว่า 1 แสนรายต่อปี (ปี 2554 จำนวน 113,514 ราย, ปี 2555 จำนวน 112,893 ราย และ ปี 2556 จำนวน 115,342 ราย ตามลำดับ) ผู้ป่วยในจิตเวช มากกว่า 4 พันรายต่อปี (ปี 2554 จำนวน 4,470 ราย, ปี 2555 จำนวน 4,301 ราย และ ปี 2556 จำนวน 4,247 ราย ตามลำดับ) ขณะที่ มีผู้ป่วยนอกประสาทจิตเวชศาสตร์ เกือบ 2 หมื่นรายต่อปี (ปี 2554 จำนวน 17,589 ราย, ปี 2555 จำนวน 17,757 ราย และ ปี 2556 จำนวน 18,910 ราย ตามลำดับ) และมีผู้ป่วยในประสาทจิตเวชศาสตร์ มากกว่า 300 รายต่อปี  (ปี 2554 จำนวน 365 ราย, ปี 2555 จำนวน 347 ราย และ ปี 2556 จำนวน 346 ราย ตามลำดับ) โดยล่าสุด ช่วงเดือน ต.ค. 56 – เม.ย.57 มีผู้มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช จำนวน 65,111 ราย ผู้ป่วยในจิตเวชจำนวน 2,737 ราย  ผู้ป่วยนอกประสาทจิตเวชศาสตร์ จำนวน 9,731 ราย และผู้ป่วยในประสาทจิตเวชศาสตร์ จำนวน 242 ราย  ซึ่งจากการศึกษา พบว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของสมอง  โรคทางจิตเวชที่พบ เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia), โรคจิตที่มีภาวะโรคอื่นร่วม (Schizo comorbid substance), โรคสมองเสื่อม (Dementia), ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย(Depression& suicide), โรคเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ(PTSD), ออทิสติก (Autistic disorder), ก้าวร้าวรุนแรง (Violence), บกพร่องทางสติปัญญา (Mental retardation)

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวต่อว่า นอกจากการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ในการดำเนินการพัฒนางานวิจัยและศักยภาพทางวิชาการของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและประสาทวิทยาศาสตร์แล้ว ในวันนี้ ได้มีการจัดสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้าน Brain Mind ในระดับประเทศ ขึ้นด้วย เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านสมองและจิตใจจากเครือข่ายนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญจัดทำเป็นฐานความรู้สู่การวิจัยที่มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชจากความผิดปกติของสมองเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านสมองและจิตใจของประเทศ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการด้านสมองและจิตใจได้ที่คลินิกผู้ป่วยสมองเสื่อม  คลินิกความจำ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง  คลื่นไฟฟ้าของระบบประสาท ซึ่งปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดย กระบวนการรักษามีทั้งการบำบัดทางชีวภาพ เช่น การให้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้า  และ การบำบัดรักษาทางจิตใจ เช่น การให้คำปรึกษา การทำกลุ่ม และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าว