ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข  เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ที่บ้านวังหลวง ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน อย่างเต็มที่ โดยส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนฟรีจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติ  พบเจ็บป่วยรอบ 2 วันรวม 60 ราย ส่วนใหญ่เจ็บป่วยเล็กน้อย  พร้อมทั้งย้ำเตือนประชาชนให้ระวังโรคฉี่หนู หลังน้ำป่าไหลหลาก แนะนำให้หลีกเลี่ยงเดินย่ำน้ำย่ำดินโคลน หากป่วยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวโดยเฉพาะที่น่อง ขอให้รีบพบแพทย์

จากกรณีฝนตกหนัก และมีน้ำป่าไหลหลากที่  บ้านวังหลวง หมูที่ 1  ตำบล ป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จ ลำพูน  เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้าน ทรัพย์สินเสียหาย จำนวน 80 หลังนั้น       

ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (9 มิถุนายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และการสาธารณสุขว่า น้ำท่วมครั้งนี้ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต  สถานบริการสาธารณสุข ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน  ได้จัดส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 1 ทีมพร้อมเวชภัณฑ์ ยา ออกให้บริการผู้ประสบภัย และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีประมาณ 1,104 คน จนกว่าสถานการณ์กลับสู่ปกติ และส่งทีมแพทย์เดินเท้าเข้าเยี่ยมประชาชนตามครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายด้วย      

ผลการให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในรอบ 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-9 มิถุนายน 2557 พบผู้ป่วย  60 คน ส่วนใหญ่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่นปวดศีรษะ  อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ไข้หวัด น้ำกัดเท้า  มีภาวะวิตกกังวลบ้าง เนื่องจากมีขนสัมภาระออกจากบ้านไม่ทัน       

ทั้งนี้ ได้ย้ำเตือนประชาชน ให้ระวังโรคฉี่หนู ที่อาจเกิดตามมาภายหลังน้ำป่าไหลหลาก  เนื่องจากหนูจะหนีน้ำ  เข้ามาหาอาหารและอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน  และสภาพพื้นดิน อาจมีดินโคลนเฉอะแฉะ  จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง   ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำย่ำโคลน  หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทยางหรือใส่รองเท้าที่มีพื้นแข็ง เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้า   และให้รีบล้างทำความสะอาดเท้าทันทีหลังเสร็จสิ้นภารกิจ  รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่  ดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดหรือน้ำต้มสุก  กำจัดขยะ เศษอาหารลงในถุงมัดปากถุงให้มิดชิด หากประชาชนมีไข้สูง  ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่อง  ขอให้รีบพบแพทย์  โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังโรคฉี่หนูในพื้นที่หลังน้ำท่วมเป็นเวลา 15 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนหลังประสบภัยน้ำท่วม