ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ เสนอบอร์ดอภ.ชุดใหม่แก้ 4 ปัญหาเร่งด่วน ผลิตยาจำเป็นให้เพียงพอ เปิดใช้งานโรงงานผลิตยารังสิตเพื่อทดแทนโรงงานผลิตยาพระรามหกที่ปิดซ่อม ตั้งกรรมการสอบการเช่ารพ.มหาสารคามอินเตอร์เป็นศูนย์ล้างไต เดินหน้าโรงงานวัคซีนทับกวางโดยด่วน เพื่อคืนความมั่นคงทางยาให้ไทย

25 ส.ค.57 ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท เปิดเผยว่า ตามที่ในวันพรุ่งนี้ (26 ส.ค.) พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานองค์การเภสัชกรรมซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้าตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และได้นัดประชุมบอร์ดชุดใหม่นัดในวันเสาร์ที่ 30 ส.ค.นี้ เครือข่ายองค์กรสุขภาพ 8 องค์กรที่เกาะติดปัญหา อภ.ได้ทำหนังสือถึงพล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานองค์การเภสัชกรรมให้เร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของ อภ.

“พวกเราเสนอให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน โดยปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการมีดังนี้ 1.เร่งแก้ปัญหาการบริหารจัดการการผลิตยาจำเป็น  โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอช ไอ วี และยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยาเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมัน ที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศ 2.เร่งดำเนินการเปิดใช้งานโรงงานผลิตยารังสิตโดยด่วน เพื่อรองรับการขาดแคลนเวชภัณฑ์อันเนื่องมาจากการปิดปรับปรุงพัฒนาโรงงานผลิตยาพระรามหก 3.ตรวจสอบการเช่ารพ.มหาสารคามอินเตอร์จัดบริการศูนย์ล้างไต และขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามภารกิจของ อภ. และ มีความโปร่งใส หรือไม่ และ 4.การดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนทับกวาง สระบุรีเพื่อสร้างความความมั่นคงทางวัคซีนแก่ประเทศ”

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจที่สำคัญต่อสังคม พวกเราจึงคาดหวังว่า บอร์ด อภ.ชุดใหม่ จะเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และวางยุทธศาสตร์ระยะยาว

“เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชนที่ต้องมุ่งเน้นบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ เน้นบทบาทหลักในการสร้างการเข้าถึงยาจำเป็นให้กับประเทศทั้งในยามปกติและยามวิกฤติฉุกเฉิน เช่น ยาจำเป็นสำหรับกลุ่มโรคเรื้อรัง, ยากำพร้า, ยาที่บริษัทเอกชนไม่สนใจผลิตเพราะได้กำไรน้อย ยาช่วยชีวิต เป็นต้น และตั้งราคาและคิดกำไรที่สมเหตุสมผล ไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร เพื่อให้ อภ.เป็นแรงหนุนหลักในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ หลังจากที่เสียศูนย์ไปมากในช่วงที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท