ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เซียร์รา ลีโอนป่วน สาธารณสุขศูนย์รักษาอีโบลา ผละงานประท้วง แคนาดาทดลองยาต้านอีโบลาได้ผลในลิง

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงฟรีทาวน์ประเทศเซียร์รา ลีโอนเมื่อวันที่ 31ส.ค.ว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันเสาร์ว่าเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขพากันผละงานประท้วงที่ศูนย์รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาของรัฐในเซียร์ราลีโอนซึ่งยิ่งเป็นการบ่อนทำลายความพยายามที่จะควบคุมการระบาดของไวรัสอีโบลาทั้งนี้ รัฐบาลแอฟริกาตะวันตกซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของอีโบลาที่เลวร้ายที่สุดต่างพยายามดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อที่จะหามาตรการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งอีโบลาซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า1,500 คนตั้งแต่เริ่มตรวจพบการระบาดครั้งแรกในพื้นที่ป่าห่างไกลของกินีในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

อีโบลาซึ่งติดต่อกันด้วยการสัมผัสเลือดเหยื่อและอาเจียนของผู้ป่วยแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส

อิชมาเอล มาเฮโมห์หัวหน้าผู้ดูแลที่คลินิกเคเนมาทางตะวันออกของเซียร์ราลีโอน กล่าวว่าคลีนิกของเขามีเปลหามคนไข้อยู่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้นซึ่งเปลหามในสภาพผุพังชิ้นนี้ใช้ทั้งกับผู้ป่วยและศพเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อมากขึ้นอีก

นอกจากนี้สถานการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลยิ่งเลวร้ายหนัก เมื่อแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในทีมฝังศพที่คลีนิกเคเนมา กล่าวว่ารัฐบาลได้หยุดจ่ายเงินค่าจ้างจำนวน50 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์แล้วเหลือศูนย์รักษาผู้ติดเชื้ออีโบลาเพียงแห่งเดียวเท่านั้นอยู่ในเมืองไคลาฮุนของเซียร์ราลีโอน และองค์การอนามัยโลกหรือฮู ก็ได้ปิดห้องทดลองที่เมืองนี้ไปแล้วในสัปดาห์นี้และได้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปหลังจากพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่งติดเชื้ออีโบลา

ยาซีแมปป์ยาทดลองต้านเชื้อไวรัสอีโบลา (ขอบคุณภาพจากรอยเตอร์ Reuters)

ขณะที่เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้าง ผลงานวิจัยของสถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติของแคนาดา ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร "ธรรมชาติ" เมื่อวันศุกร์ ซึ่งเป็นการนำยาซีแมปป์ยาทดลองต้านเชื้อไวรัสอีโบลา มาใช้รักษาลิงที่มีอาการป่วย 18 ตัว รับยาซีแมพพ์ 3 โดส

โดยลิงแต่ละตัวได้รับยาครั้งแรกราว 5 วันหลังแสดงอาการป่วย ผลปรากฏว่าลิงทั้งหมดมีอาการดีขึ้นและหายจากโรค แม้ลิงบางตัวจะกลับมาแสดงอาการป่วยอีกครั้งก็ตามขณะที่ลิงอีก 3 ตัวซึ่งไม่ได้รับยาซีแมพพ์เสียชีวิตทั้งหมด

นพ.แอนโธนี เฟาซี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัย กล่าวว่า ผลการทดลองที่ออกมาเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาตัวยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก ข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสอีโบลา เผยว่า 2 ใน 7 ของผู้ป่วยซึ่งได้รับยาซีแมปป์เสียชีวิตในเวลาต่อมา