ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับวันกระทรวงหมอก็ยิ่งมีปัญหาไม่จบสิ้น ไล่มาตั้งแต่ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่าง สธ. และสปสช.เกี่ยวกับจัดสรรงบประมาณ ไปจนถึงข้อสงสัยว่า 2 รมต.ใหม่ที่คาดหมายกันว่าจะเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้ง ก็ถูกลากไปเชื่อมโยงว่ามีกลุ่มแพทย์ชนบทหนุนหลัง และล่าสุดกับปรากฎการณ์ร้อนๆ การปลด นพ.สุวัช พ้นจากตำแหน่งผอ.อภ. และปรากฎการณ์ที่ปลัดสธ.ตั้งทีมที่ปรึกษาขึ้นมา ก็ยังหนีไม่พ้นข้อสงสัยว่าตั้งใจมาชนกับทีมที่ปรึกษาของรมต. บางทีนี่อาจจะเป็นความขัดแย้งที่คุกรุ่นกันมานานจนได้ที่และมาเดือดถึงขีดสุด ณ เวลานี้ ซึ่งท้ายที่สุด ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์นี้จะจบอย่างไร ตราบใดที่แต่ละฝ่ายยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งครั้งนี้คืออะไร

นับวันกระทรวงหมอก็ยิ่งมีปัญหาไม่จบสิ้น โดยเฉพาะกรณีข้อขัดแย้งระหว่างการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ที่ต้องการจัดสรรรูปแบบใหม่

โดยเดิมทีสปสช.จัดสรรในรูปเงินเหมาจ่ายรายหัว ที่อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการจัดสรรก็จะแยกออกเป็นหมวดต่างๆ 9 หมวด คือ

1.งบบริการผู้ป่วยนอก 

2.งบบริการผู้ป่วยใน  

3.งบบริการกรณีเฉพาะ

4.งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

5.งบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์​ 

6.งบบริการการแพทย์แผนไทย

7.งบค่าเสื่อม

8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

และ 9.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ

แต่ปรากฎว่าช่วงที่ผ่านมา “นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอในการประชุมของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังของบอร์ด สปสช.ว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนโยบายเขตสุขภาพที่กำลังเดินหน้าขณะนี้ โดยการปรับเปลี่ยนการจัดสรรนั้น คือ ให้จัดเงินในรูปเขตสุขภาพ แทนที่จะลงไปยังโรงพยาบาลโดยตรง กล่าวคือ เงินยังอยู่ที่สปสช. แต่ขอให้เขตสุขภาพ ในรูปคณะกรรมการเขต ที่มีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และภาคส่วนต่างๆ สามารถเสนอแนะแนวทาง เรียกว่ามีส่วนในการควบคุมการใช้เม็ดเงิน และเสนอให้ยุบการจัดสรรในรูปหมวดที่มีมากเกินไป โดยขอให้เหลือเพียง 4 หมวด คือ

1”การบริการผู้ป่วยนอก  

2.ผู้ป่วยใน

3.งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

และ 4.เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการและรับบริการ ตามมาตรา 41

แต่สุดท้ายไม่ได้ข้อยุติและยืดเยื้อ กระทั่ง “ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับตำแหน่ง ก็ดูเหมือนจะยิ่งเป็นปัญหา มีการจับโยงไปในประเด็นการเมือง เพราะว่า ทีมงาน ศ.นพ.รัชตะ ถูกมองว่า เป็นกลุ่มก๊วนของแพทยชนบท และยังมีพลังแฝงอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนอีก จนถูกมองว่ามีการแบ่งฝ่ายชัดเจน ว่า ฝ่ายการเมืองคงไม่อิง ปลัด สธ.เป็นแน่

ล่าสุด ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดใจกับสื่อมวลชน ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้เวลา 30 นาที โดยตอบข้อซักถามถึงกรณีดังกล่าวว่า มาจากปัญหาทางการเมืองที่ไม่ลงรอยระหว่างฝั่ง รมว.สธ.และปลัดสธ.หรือไม่ ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ ยืนยันว่า ตั้งแต่เข้ามารับงานก็ทราบว่า มีความเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว คงไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด และตนก็ทำงานร่วมกับปลัดณรงค์ อยู่แล้ว ที่สำคัญไม่เคยพูดว่าจะปลดปลัด

ส่วนประเด็นการตั้งทีมที่ปรึกษาที่ถูกจับตามองว่า เป็นกลุ่มก๊วนของแพทย์ชนบท และหน่วยงานตระกูลส. ที่มีทั้ง นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตกรรมการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มี “นพ.สุเทพ เพชรมาก” ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา และอดีตกรรมการชมรมแพทย์ชนบท นั่งตำแหน่งเลขานุการรมว.สธ. และ “นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา” อดีตผอ.รพ.เชียงยืน มหาสารคาม และอดีตเลขานุการชมรมแพทย์ชนบท ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรมว.สธ. ยิ่ง นพ.สมชายโชติ เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคียงข้างกับชมรมแพทย์ชนบทเมื่อครั้งออกมาคัดค้านนโยบายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ของปลัด สธ. และ “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” สมัยเป็นรมว.สธ.  

โดยเรื่องนี้รมว.สธ.เหมือนมีอารมณ์เล็กน้อย กล่าวว่าให้กลับไปดูองค์ประกอบของทีมที่ปรึกษาจำนวน 19 ท่าน มีความหลากหลายไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดย 4-5 ท่านเป็น อาจารย์มหาวิทยาลัย 3-4 ท่าน มาจากโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และมาจากภาคสังคม 2 ท่าน รวมทั้งยังมีอดีตปลัดกระทรวง อดีตรัฐมนตรี และภาคเอกชนด้วย 

งานนี้เหมือนจะยุติ แต่ก็ไม่ เพราะล่าสุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คำสั่งลงวันที่ 22 ต.ค. 2557 โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อร่วมกันดำเนินงานการวางรากฐานพัฒนาเสริมความเข้มแข็งให้แก่งานบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเน้นความทั่วถึง มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวแบ่งออกเป็น คณะกรรมการที่ปรึกษา มี นพ.สุจริต ศรีประพันธ์ เป็นประธานที่ปรึกษา มี นพ.วินัย วิริยกิจจา, นพ.เสรี ตู้จินดา และ นพ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ เป็นที่ปรึกษา

ส่วนคณะกรรมการอื่นๆ มี 16 ท่าน ประกอบด้วย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ, นพ.ชาญชัย บูรพางกูร, นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์, นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์, นพ.ธวัช สุนทราจารย์, นพ.กิตติ กิตติอำพน, นพ.พิษณุ มณีโชติ, นพ.อุรุพงษ์ เวศกิจกุล, นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์, นพ.กมล วีระประดิษฐ์, นพ.เจริญ มีชัย, นพ.ทรงยศ ชัยชนะ, นพ.ประเสริฐ ขันเงิน, พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา, นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ และ นพ.ศักดา อัลภาชน์

สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ จะให้คำปรึกษาแนะนำข้อราชการในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบธรรมภิบาล โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล การพัฒนานโยบายและแนวทางการบริหารจัดการระบบริการ โดยเฉพาะระบบบริการในรูปแบบเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข การพัฒนาระบบการเงินการคลังในระบบสุขภาพที่มีความเหมาะสมและประสิทธภาพ เป็นต้น

สำหรับรายชื่อดังกล่าวเมื่อตรวจแล้วพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขระดับปลัด รองปลัด และผู้ตรวจราชการฯ มาก่อน อาทิ นพ.สุจริต ศรีประพันธ์, นพ.วินัย วิริยกิจจา, นพ.วัลลภ ไทยเหนือ, นพ.เสรี ตู้จินดา โดยเฉพาะ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ สมัยเป็นปลัด สธ. ถือว่าได้รับความเคารพจากคนในแวดวงสาธารณสุขโดยเฉพาะในด้านอนามัยแม่และเด็ก และการบริหารงาน แต่มีความขัดแย้งอย่างมากกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรี สธ.สมัยนั้น และชมรมแพทย์ชนบท เนื่องจากปัญหาโครงการทุจริตคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท

โดยหลังจากมีคำสั่งนี้ออกมา  ชมรมแพทย์ชนบทได้โพสข้อความถึงเรื่องดังกล่าวในเพจชมรมฯผ่าน facebook ว่า การแต่งตั้งทีมกุนซือดังกล่าวเป็นการดิ้นอีกรอบของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พยายามแสดงความชัดเจนถึงการแบ่งฝ่ายระหว่างปลัดสธ.และศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ.(รมว.สธ.) ทั้งๆ ที่ รมว.สธ.นิ่งเฉย แต่ปลัดสธ. ก็หันมาตั้งทีมที่ปรึกษาเหมือนรมว.สธ. โดยทีมตัวเองเป็นพวกเกษียณ วัยสูงอายุ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวของปลัด สธ. เห็นชัดว่า เป็นเกมการเมือง เป็นการตั้งมาชนกันกับทีมที่ปรึกษาของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ส่วนที่ระบุว่าจัดตั้งเพื่อให้การดำเนินการการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเขตสุขภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น จริงๆ ไม่จำเป็น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เคยพูดไว้แล้วว่า เขตสุขภาพจะต้องเป็นในรูปเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เป็นผู้นำเข้าในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงเดือนธันวาคม 2557 นี้ เพราะเป็นการประชุมที่มีทุกภาคส่วน มีภาคประชาชนเป็นหลัก จะทำให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางระดับพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งทุกอย่างมีกระบวนการตามขั้นตอนอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจว่าปลัด สธ.จะตั้งทีมที่ปรึกษามาเพื่ออะไร ถ้าไม่ได้หวังชนกับทีมรมว.สธ.

ส่วนกรรมการที่ปลัดสธ.แต่งตั้งนั้น อย่าง “นพ.วินัย วิริยกิจจา” อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จริงๆแล้วการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา ใครๆ ก็สามารถตั้งได้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.ก็ตั้งได้ ซึ่งการที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ตั้งทีมที่ปรึกษาก็เหมือนเป็นการทำงานเสริมกับฝ่ายการเมือง คือ รัฐมนตรีว่าการ สธ. ดังนั้น การจะมาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องการเมือง ตั้งทีมมาชนกัน ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะหากพูดว่าการเมือง ก็ต้องหมายถึงฝ่ายรัฐมนตรี ที่เป็นฝ่ายการเมือง แต่ฝ่ายข้าราชการประจำทำงานตามหน้าที่ของข้าราชการประจำ ดังนั้น ในบทบาทหน้าที่ต้องให้ถูกจุดด้วย จริงๆ ตนไม่ได้อยากยุ่งเกี่ยวเรื่องปัญหาในกระทรวงฯ แต่ที่มาทำงานครั้งนี้ก็เพื่อมาให้คำแนะนำในเรื่องการเดินหน้านโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเขตสุขภาพ เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ตนยังไม่เกษียณ ทำงานในกระทรวงฯ ก็เคยทำงานด้านการบริหารจัดการในรูปเขต โดยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแต่ละระดับจะมีหน้าที่ของตน ทั้งส่วนกลาง ดูแลภาพรวมทั้งหมด ส่วนเขตก็ดูแลระดับจังหวัด ส่วนจังหวัดก็ดูแลระดับอำเภอ และอำเภอก็ดูแลระดับตำบล ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งถืงประชาชนแน่นอน

นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) และอดีตปลัด สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ  เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นการคิดกันเองว่า นพ.ณรงค์ ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาชนกับทีมรมว.สธ. ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงโดยส่วนตัว ตนรู้จักและทำงานร่วมกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. มาตั้งแต่โครงการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในคนไทย ซึ่งแต่ละคนในทีมที่ปรึกษาของ รมว.สธ. ตนรู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตากันดี  และที่เข้ามาช่วยงานนพ.ณรงค์ ก็เพราะต้องการให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าไปในทิศทางถูกต้อง โดยต้องปรับระบบบริหารให้ถูกจุด และเป็นรูปธรรม ให้มีผลงานถึงประชาชนอย่างแท้จริงในปี 2558 ส่วนปัญหาภายในกระทรวงจะเป็นอย่างไร ตนไม่ขอออกความเห็นมากนัก เพราะแต่ละฝ่ายก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการกระจายงบประมาณที่เป็นประเด็นอยู่ว่า จะจัดสรรในรูปแบบวิธีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หรือจะเป็นรูปแบบเขตสุขภาพนั้น ตนรู้จักกับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ดี ซึ่งหากไม่ได้ข้อยุติก็จะเข้าไปหารือร่วมด้วย เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ลงตัว และสามารถกระจายงบฯไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) หนึ่งในกรรมการที่ปรึกษา กล่าวถึงกระแสแพทย์ชนบทออกมาโจมตีว่า คิดมากเกินไป เพราะการตั้งทีมที่ปรึกษาก็สามารถตั้งได้เพื่อมาช่วยงาน อย่างรมว.สธ.ก็แต่งตั้งทีมที่ปรึกษามาช่วยงาน ก็ไม่แปลกอะไร อีกอย่างทีมที่ปรึกษาในรมว.สธ.ก็เป็นคนในแวดวงสธ. เป็นคนรู้จัก คุ้นหน้ากันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ก็เพื่อมาช่วยแนะนำดูในเรื่องการพัฒนาระบบการบริการสุขภาพในรูปแบบเขตสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งในเรื่องเนื้อหาสาระก็ต้องมาพิจารณาอีกที เพราะตนยังไม่ได้ประชุมกับทีมที่ปลัดสธ.ตั้งเลย แต่ยืนยันพร้อมทำงานเต็มที่

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค หนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษา กล่าวว่า นพ.ณรงค์ ได้โทรศัพท์ส่วนตัวมาเพื่อให้ช่วยกันทำงาน ซึ่งคิดว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่เป็นการคิดร้ายจัดตั้งทีมมาเพื่อต่อสู้กับใคร และการทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ได้คุยกันมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ นพ.ณรงค์ พยายามทำเห็นว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณให้เกิคความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเท่านั้น    

ดูแล้วเกมนี้คงไม่จบง่ายๆ ยิ่งล่าสุดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ได้เลิกจ้าง นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ออกจากผอ.อภ. โดยให้เหตุผลเพียงว่า ไม่สามารถบริหารงาน บริหารคนจนบรรจุตามเป้าประสงค์ได้ ที่สำคัญยังมีความขัดแย้งในองค์กร ส่วนรายละเอียด ประธานบอร์ด อภ. “พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร” ไม่ขอลงรายละเอียด พูดเพียงว่า หมอสุวัชเป็นคนดี แต่ดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องบริหารงานให้ดีด้วย

เป็นเรื่องน่าติดตาม เพราะเป็นที่ทราบว่า หมอสุวัช เป็นคนที่ถูกแต่งตั้งในช่วงสมัยบอร์ด อภ.ยุค นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. งานนี้คงต้องดูว่าศึกนี้จะเป็นอย่างไร