ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมการค้ายาสูบไทย เผยผลสำรวจนิด้าโพลล์ พบร้านค้าปลีกจำนวนกว่า  3 ใน 4 (ร้อยละ 79) เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่มีมาตรการอันสุดโต่งจะสร้างความ เสียหายแก่ธุรกิจของพวกเขา นอกจากนั้นร้านค้าปลีกมีความกังวลต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและภาคธุรกิจ

การสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ ดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยนิด้าโพลล์ ในนามสมาคมการค้ายาสูบไทย โดยวิธีการสำรวจเป็นการโทรศัพท์สัมภาษณ์ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่จำหน่ายบุหรี่จำนวน 1,011 รายทั่วประเทศ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยผลจากการสำรวจเผยให้เห็นว่า เมื่อมองภาพรวม ผลสำรวจร้านค้าปลีกในปี 2557 นี้ (ร้อยละ 79) คล้ายคลึงกับผลสำรวจในปี 2555 (ร้อยละ 78) เป็นอย่างมาก ในเรื่องของความกังวลต่อร่างพ.ร.บ.ฯ ที่มีเนื้อหากฎหมายที่ครอบคลุมกว้างมากและมีความคลุมเครือ ว่าควรได้รับการทบทวนอย่างละเอียดโดยสภาผู้แทนราษฎรหลังจาก ที่มีการเลือกตั้งแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจว่า กฎหมายดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอและจะไม่ส่งผลกระทบในภายหลัง นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกในประเทศไทยกว่าร้อยละ 63 เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศ ในปีนี้แย่กว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และมีเพียงร้อยละ 21 ที่คิดว่าธุรกิจของ พวกเขาจะดีขึ้นในปีหน้า ดังนั้นในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่เช่นนี้ จึงไม่ควรมีการออกกฎหมายใดๆ มาซ้ำเติมร้านค้า เพิ่มขึ้นอีก

นางวราภรณ์  นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า  "สมาคมการค้ายาสูบไทยและสมาชิกของเราซึ่งเป็นกลุ่มร้านค้าโชห่วย มีความกังวลเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณารายละเอียด ของข้อกฎหมายในร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบโดยร้านค้าจำนวนกว่า  3 ใน 4 (ร้อยละ 79) เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่ากฎหมายอันสุดโต่งดังกล่าวจะสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจของพวกเขา รวม ไปถึงธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่  (ร้อยละ 52) เชื่อว่ากฎหมายที่เข้มงวดเกินความจำเป็นนี้ จะส่งผลให้การบริโภคยาเส้นมวนเองเพิ่มสูงขึ้นซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยให้อัตราการบริโภคยาสูบลดลงแต่อย่างใด และที่สำคัญคือร้านค้าปลีกต่างมีความเห็นว่า  รัฐบาลควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพดีพออยู่แล้ว นอกจากนั้นควรมุ่งเน้นไปที่การให้การศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการบริโภคยาสูบโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่ธุรกิจค้าปลีกขนาดย่อย"

หัวข้อต่างๆ ในความเห็นชอบของร้านค้าปลีกทั่วประเทศเรื่องการปฏิบัติการ เกี่ยวกับการให้ความรู้และการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยลดอัตราการบริโภคบุหรี่ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ร้อยละ 34 เห็นว่าควรเพิ่มการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีเลิกบุหรี่ ร้อยละ 29  เห็นว่าควรจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ให้มากขึ้น ร้อยละ 24 เห็นว่าควรบังคับใช้กฎหมาย ยาสูบในปัจจุบันให้เข้มงวดขึ้น ร้อยละ 8  เห็นว่าควรปรับเพิ่มภาษีให้สูงขึ้น มีเพียง แค่ร้อยละ 4 ที่เห็นว่าควรผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ที่มีความสุดโต่งนี้

ผลสำรวจความคิดเห็นของ ผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นร้านค้าปลีกทั่วประเทศยังได้แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลต่อการบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ (plain packaging) ดังที่ได้เคยออกมาแสดงความคิดเห็นไปในปี 2555 โดยร้านค้าปลีกต่างกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในผลเสียที่จะเกิดจากการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ และนี่ยังเป็นประเด็นลำดับต้นๆ ที่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยร้อยละ 92 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบจะทำให้กิจกรรมทางการค้าในแต่ละวัน เช่น การสั่งสินค้า การจัดการคลังสินค้า การเติมสินค้า และการให้บริการลูกค้ามีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น และอีกร้อยละ  90 เชื่อว่าการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบจะนำไปสู่การปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นและจะมีบุหรี่ปลอมเพิ่มมากขึ้นในตลาด รวมทั้งการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายในประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้นร้อยละ 90 ยังคิดว่าการผ่าน ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ไม่น่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วน ที่ทางคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ควรให้ความสำคัญ ณ ขณะนี้ เนื่องด้วย ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลร้ายแก่ธุรกิจค้าปลีกขนาดย่อย ทั้งยังไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ตามจุดประสงค์ที่แท้จริง โดยร้อยละ 79 มีความคิดเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ควรเป็นประเด็นที่สภา ผู้แทนราษฎรเข้ามาพิจารณาหลังมีการเลือกตั้งแล้ว

"ผลสำรวจนี้ตอกย้ำว่าร่างพ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในเรื่องผลกระทบต่างๆ เพราะร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายส่งเสริมสุขภาพ แต่เป็นกฎหมายที่ทำร้ายร้านค้าปลีก เพราะมีแต่กฎหมายสุดโต่งที่สร้างภาระ เพิ่มต้นทุนร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งสวนทางกับนโยบายรัฐบาล และ คสช. ในการส่งเสริม ธุรกิจขนาดเล็ก ทางสมาคมขอวอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลรับฟังเสียงร้านค้าปลีกรายย่อยและผู้ได้รับผลกระทบก่อนเดินหน้าผลักดัน กฎหมาย เพราะการทำร้ายผู้ค้าปลีกรายเล็ก ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในการควบคุมยาสูบ" ผู้อำนวยการบริหารสมาคม การค้ายาสูบไทย กล่าว