ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เตือนผู้บริโภค อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ย้ำ! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องเพศ อย.ไม่เคยอนุญาตโฆษณา “อกฟู รูฟิต” ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว อาจได้รับผลข้างเคียงอย่างคาดไม่ถึง

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และในฐานะโฆษก อย.เปิดเผยว่า หลังเป็นข่าวบนโลกออนไลน์มีผู้นำอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นกับภรรยามาแชร์ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “อกฟู รูฟิต” ที่ได้รับผลข้างเคียงถึงขั้นต้องผ่าตัดก้อนเนื้อในมดลูก ซึ่งระบุว่ากินติดต่อกันมานานถึง 6 ปีเริ่มแรก 2- 6 เม็ดและเพิ่มปริมาณเป็น 10 เม็ดต่อวัน โดยผู้ขายสินค้าอธิบายว่ากินมากได้ผลเร็ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ขายว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรับประทานในปริมาณมากได้ตามต้องการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด เพราะการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดเข้มข้นในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องทางเพศ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่สำคัญ อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว หากท่านมีโรคประจำตัว อาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึงได้ ที่ผ่านมา อย. ได้มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะลดน้ำหนัก เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ผิวขาวใส ฟิต หุ่นเฟิร์ม หรือใช้บุคคลเป็นตัวแทนบอกเล่าสรรพคุณการใช้ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบโฆษณาในลักษณะขายตรง , ทางเว็บไซต์ , ทางคอลเซ็นเตอร์ , ทางเคเบิลทีวี , ทางวิทยุ หรือตามหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆเป็นต้น ซึ่ง อย.ได้ตรวจสอบและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดมาโดยตลอดเพราะผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเหล่านี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตโฆษณาจาก อย.

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลายก็เพียงพอไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรงนอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักเพื่อเสริมสารบางอย่างและมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย และไม่ควรให้เด็กและสตรีมีครรภ์รับประทาน แต่หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากต้องตรวจสอบข้อมูลโฆษณาให้แน่ชัดแล้ว ผู้บริโภคต้องตรวจสอบข้อความบนฉลาก ซึ่งต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมายอย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ในผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย)ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น

รองเลขาธิการฯ อย. ในตอนท้ายว่า หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริงผ่านทางสื่อต่าง ๆ หรือโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือ e–mail : 1556@fda.moph.go.th หรือร้องเรียนผ่าน OryorSmart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป