ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สกว.เผยวิจัยพบกองทุน สปส.สิทธิรักษาพยาบาลยอดแย่-ขาดการพัฒนา ไม่เปิดรับฟังความเห็น ปชช. ชี้ปฏิรูปกองทุนเป็นเรื่องดีแต่ควรมองด้านการรักษา-คุณภาพนอกจากความโปร่งใสด้วย

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากที่มีการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาทนั้น ว่า ถือเป็นเรื่องดีในการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกองทุน แต่การปฏิรูปกองทุนนั้นควรทำในหลายๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่การทำให้เกิดความโปร่งใส ปลอดจากการแทรกแซงจากการเมืองหรือการใช้เงินลงทุนให้มั่นคง แต่การปฏิรูปกองทุนควรให้ความสำคัญกับด้านประสิทธิภาพและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้มากกว่านี้ โดยจากการวิจัย 30-40 เรื่องของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (HITAP) ในด้านสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน พบว่าผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมมีสิทธิด้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ ในประเทศทั้งสิ้น ซึ่งสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลถือเป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกันตน แต่กลับถูกละเลย ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเองได้

นพ.ยศ กล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการกองทุนในแง่การรักษาพยาบาล ประกันสังคมจะใช้วิธีคำนวณเงินรายหัว และให้โรงพยาบาลไปบริหารความเสี่ยงทั้งหมดเองครั้งเดียว โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบหรือติดตามว่าเงินดังกล่าวมีการนำไปใช้เพื่อให้บริการผู้ประกันตนได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งจากที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ทำให้โรงพยาบาลโดยเฉพาะภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาบริการในกลุ่มสิทธิประกันสังคม แม้ว่าจะมีมาตรฐานว่ายาต้องไม่ต่ำกว่าบัญชียาหลัก และยาบางรายการก็ได้รับสิทธิน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งต้องใช้ยาเม็ดละแสนกว่าบาท ซึ่งบัตรทองจะได้ยาฟรี สิทธิข้าราชการสามารถเบิกได้ ในขณะที่ประกันสังคมจะไม่ได้รับ เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการแบบนี้ยังทำให้สถานพยาบาลไม่จัดบริการอย่างอื่นโดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยโรค การป้องกันส่งเสริมโรค ทั้งที่เป็น เรื่องจำเป็น

นพ.ยศ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่ากองทุนประกันสังคมมีคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดการแพทย์) เพียงคณะเดียวที่ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยไม่มีการเปิดให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมหรือทำประชาพิจารณ์ ในขณะที่บัตรทองมีคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งในแต่ละปียังมีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน หน่วยบริการ และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันประกันสังคมถือเป็นกองทุนที่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด โดยกองทุนประกันสังคมยังไม่เคยมีข้อมูลว่าผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิตนเองได้เท่าใด ได้รับบริการที่พึงพอใจหรือมีคุณภาพหรือไม่อีกด้วย ทั้งนี้ การมีคณะกรรมการปฏิรูปกองทุนฯถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะนี้วัตถุประสงค์การปฏิรูปมุ่งไปเพียงเรื่องการลงทุน การนำเงินกองทุนไปบริหารเท่านั้น จึงอยากให้มีการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ เพิ่มคุณภาพ และตรวจสอบคุณภาพด้วย

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557