ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ : ปลัดสธ.เผยมีรพ.ขาดทุนรุนแรง 105 แห่ง เหตุงบบัตรทองถึงรพ.ไม่เต็ม เช่น งบกองทุนตำบลค้างท่อตั้งแต่ปี 49 ถึง 4 พันล้านบาท แจงสปสช.กระจายงบให้หน่วยงานที่ไม่ใช่รพ. ให้มูลนิธิ ชมรม ได้ถามต่อบอร์ดสปสช.แล้วว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะกฎหมายหลักประกันสุขภาพกำหนดว่าค่าบริการสุขภาพต้องให้หน่วยบริการสาธารณสุขเท่านั้น ชี้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวปลัดขัดแย้งสปสช. แต่เป็นเรื่องของรพ.ทุกระดับ ตนชื่อณรงค์ ไม่ได้ชื่อปลัด ถ้าไม่พะวงเก้าจะตัดสินใจได้ถูกต้อง

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

9 ธ.ค. เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงบลงทุน ภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพปี พ.ศ.2559-2560 โดยมีนายแพทย์สาธารณสุข (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ทั่วประเทศเข้าร่วม ว่า การบริหารงานของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสธ.(สป.สธ.) ที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 108,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียน 14,000 ล้านบาท ส่วนปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องนั้น ปัจจัยหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง โดยพบว่ามีการขาดทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ทั้งที่หากมีการบริหารจัดการงบประมาณที่ดีกว่านี้ คือจัดสรรงบผ่านเขตสุขภาพซึ่งถือเป็นคำตอบ ก็จะช่วยให้โรงพยาบาลมีสภาพคล่องตัวมากขึ้น เพราะโดยภาพรวมมีเงินเหลือในระบบประมาณ 1,800 ล้านบาท จากการที่มีสิทธิการรักษาของกองทุนอื่นเข้ามาช่วย ทำให้มีรายได้มากกว่าต้นทุน 9,000 ล้านบาท

"ที่น่าเป็นห่วงและต้องเร่งแก้ไขคือ โรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับรุนแรงสูงสุด โดยในรอบ 3 ปีมีมากถึง 105 แห่ง โดยพบข้อมูลหนึ่งที่ว่า การบริหารงบหลักประกันสุขภาพฯ ไปยังโรงพยาบาลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย คือ งบกองทุนตำบลที่กระจายปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท มีการค้างท่อ 4,104 ล้านบาท ซึ่งสะสมมาตั้งแต่ปี 2549-2557" ปลัด สธ. กล่าว

ทั้งนี้ เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยังรายงานว่า นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบข้อมูลที่มาจาก สปสช. ซึ่งมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ ว่ามีการกระจายงบให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการงบเหมาจ่ายรายหัว ทั้งมูลนิธิ เครือข่าย ชมรม และวัด ซึ่งตนได้เสนอต่อบอร์ด สปสช. เพราะเกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่าค่าบริการด้านสุขภาพต้องจัดให้หน่วยบริการเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบการโอนเงินเข้าบัญชีโรงพยาบาลหลายแห่งช่วงปลายปี โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2555 พบการโอนเงินจาก สปสช.ไปให้ รพ.ศรีสังวาล จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 11 ล้านบาท จากนั้นมีการเรียกเงินคืนสปสช.จำนวนเท่าเดิม โดยที่ ผอ.โรงพยาบาลไม่ทราบ 

"ทั้งเรื่องการโอนงบให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการงบเหมาจ่ายรายหัว และการโอนงบไปมาเหล่านี้ ผมได้ถามไปยังบอร์ด สปสช. แต่ก็ไม่มีการพูดถึง อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีการตรวจสอบ เพราะในบอร์ด สปสช. มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบและชี้แจง" ปลัด สธ. กล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องนี้อาจจะมีการนำไปพูดว่า ปลัด สธ.ยังขัดแย้งกับ สปสช.ไม่จบ และอาจมีผลต่อตำแหน่งปลัด สธ.หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่นำเสนอในบอร์ด สปสช. และเรื่องนี้ก็เพื่อการบริหารจัดการของโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับปลัด เป็นเรื่องของโรงพยาบาลทุกระดับ ตนจะอยู่หรือจะไปไม่เกี่ยวกับตนเองเลย

เมื่อถามว่า กลัวจะถูกปลดก่อนเกษียณในปี 2558 หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ตนชื่อ ณรงค์ ไม่ใช่ชื่อปลัด หากเราไม่พะวงเก้าอี้ ก็จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก เท่าที่ทราบมีคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ซึ่งกำลังดูรายละเอียดอยู่ แต่เงินดังกล่าวไม่น่าเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะสปสช.มีงบหลายก้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารการนำเสนอของปลัด สธ.ต่อบอร์ด สปสช.เกี่ยวกับเรื่องหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยบริการรับงบเหมาจ่ายรายหัว ในหมวดส่งเสริมป้องกันโรค (PP) ระบุว่า สำนักงานบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ราว 9 ล้านบาท มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ประมาณ 8.5 ล้านบาท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคราว 3.7 ล้านบาท และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ประมาณ 2.1 ล้านบาท เป็นต้น และเอกสารเรื่องการจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ ระบุว่า คณะต่างในมหาวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยต่างๆ 41 ล้านบาท วิทยาลัย 10 ล้านบาท สภา/สมัชชา/สมาคม/สถาบัน 55.9 ล้านบาท สำนัก/สำนักงาน 31 ล้านบาท มูลนิธิ 32 ล้านบาท และเครือข่าย/โครงการ/ชมรม/ค่าย/องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข ราว 7 ล้านบาท เป็นต้น

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) กล่าวว่า ในส่วนที่มีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวในหมวดงบส่งเสริมป้องกันโรคให้กับองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการนั้น ชมรมฯในฐานะเป็นหน่วยบริการเพิ่งทราบเรื่อง จากนี้จะต้องมีการพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียดและหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับแนวทางการปรับปรุงกลไกระบบการเงินการคลังของงบเหมาจ่ายรายหัว กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นข้อเสนอของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตนยินดีชี้แจง แต่หากเป็นไปได้ ข้อสงสัยต่างๆสามารถทำหนังสือหรือแจ้งมาทางสปสช. ไม่อยากให้ผ่านทางสื่อ อย่างไรก็ตาม สำหรับงบกระจายไปยังหน่วยงานที่ถูกตั้งคำถามเป็นงบที่เรียกว่า งบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นงบในการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข ส่วนที่ปลัดสธ.ระบุว่า มีการนำเสนอบอร์ดสปสช.แล้ว แต่ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ถูกบรรจุในวาระการพิจารณา