ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“โรคห่า” ที่ระบาดหนักในสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นข้อสงสัยว่าคือโรคอหิวาตกโรคหรือกาฬโรคกันแน่ กระทั่งมีหลักฐานพบว่ากาฬโรคจากเมืองจีนระบาดไปถึงตะวันออกกลางและยุโรประหว่าง พ.ศ. 1890-1893 เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายนับล้านๆคน จนยุโรปเกือบร้าง ซึ่งช่วงเวลาที่กาฬโรคระบาดจากเมืองจีนไปถึงยุโรปตรงกับเวลาใน “ตำนานและพงศาวดารเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่า แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893” โรคห่าในสมัยนั้นจึงน่าจะเป็นกาฬโรคที่ระบาดไปทั่วโลกช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (หรือหลัง พ.ศ. 1800)

“กาฬโรค” เป็นโรคระบาดร้ายแรงในอดีตที่ปัจจุบันนับว่าได้สูญหายไปจากประเทศไทยแล้วนั้น มีหลักฐานพบการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ. 2495 โดยมีรายงานผู้ป่วย 2 ราย ตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย

ก่อนหน้าการระบาดครั้งสุดท้ายที่ตาคลี ย้อนหลังไป 40 ปี ในปี พ.ศ. 2456 เกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย 300 คน ส่วนการระบาดใหญ่ก่อนนั้นเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2447 นายแพทย์ เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล (Principal Medical Officer of Bangkok City) ได้รายงานถึงการระบาดของกาฬโรคอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447โดยพบการระบาดอยู่ที่บริเวณโกดังเก็บสินค้าในจังหวัดธนบุรี ที่เรียกว่าตึกแดงและตึกขาว บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดีย แล้วระบาดเข้ามาฝ้่งพระนคร จากนั้นกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับจังหวัดพระนคร ทั้งทางบก ทางเรือ และทางรถไฟ แต่ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อราวพ.ศ.1893 ซึ่งตรงกับคริสต์ศักราช 1350 หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก มีโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะทางยุโรปมีคนตายนับล้านๆ คน

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าชื่อ “กาฬโรค” หรือ Black Death แปลว่า “ความตายสีดำ” พิษภัยจากกาฬโรคได้เปลี่ยนแปลงสังคมโลกในเวลานั้นเป็นอย่างมากไม่เว้นกระทั่งงานด้านศิลปวรรณกรรม เช่น วรรณคดีอิตาเลียนเรื่อง Decameron ของ จิโอวานนี บอกกาจจิโอ แต่งขึ้นสะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากของคนในยุคกาฬโรคระบาด

กรุงศรีอยุธยาและบ้านเมืองแถบอุษาคเนย์ เกิดกาฬโรคระบาดเหตุเพราะการติดต่อค้าขายทางสำเภากับจีน เนื่องจากมีหลักฐานประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่ามีกาฬโรคระบาดในจีนเมื่อราว พ.ศ.1876 จากนั้นก็แพร่สู่อุษาคเนย์ โดยมีหมัดหนูเกาะติดตัวหนูอยู่ใต้ท้องสำเภา เมื่อสำเภาเทียบท่าจอดขนถ่ายสินค้าที่แห่งใด หนูใต้ท้องสำเภาก็เอาหมัดหนูออกไปแพร่เชื้อในบ้านเมืองแห่งนั้นตลอดเส้นทาง เช่นเดียวกับประเทศไทยในเวลานั้น มีผู้คนล้มตายจำนวนมากด้วยกาฬโรคระบาดดังปรากฎใน “ตำนานและพงศาวดารเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่า แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893”

เมื่อกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในทวีปยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1347-1350 (พ.ศ. 1890-1893) คนกลุ่มน้อยอย่างขอทาน นักบวชจากแดนไกล ผู้เร่ร่อน โดยเฉพาะ 'ชาวยิว' ถูกสงสัยว่าเป็นต้นเหตุ หลายเมืองในยุโรปมีการนำชาวยิวมาเผาทั้งเป็น (ภาพพิมพ์ไม้ประกอบในหนังสือพงศาวดารฉบับนูเรมเบิร์ก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1493 / พ.ศ. 2036)

ภาพ “หมอจงอยปากนกแห่งกรุงโรม” หมอรักษาโรคระบาดกาฬโรค (ภาพพิมพ์ฝีมือของ Paul First ที่กรุงโรม อิตาลี ราว ค.ศ. 1656 / พ.ศ. 2199)

กรุงศรีอยุธยาช่วงกาฬโรคระบาด มีศูนย์กลางอยู่บริเวณวัดพนัญเชิง และวัดใหญ่ชัยมงคล ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา กาฬโรคได้คร่าชีวิตทั้งคนชั้นสูง เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ และไพร่ฟ้าประชาราษฎรไปเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่รอดตายจากกาฬโรคต้องสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ มีร่องรอยในพระราชพงศาวดารว่ากษัตริย์ยุคนั้นได้ย้ายตำหนักจากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ เรียกว่า “เวียงเหล็ก” บริเวณวัดพุทไธสวรรย์ เมื่อกาฬโรคระบาดสิ้นฤทธิ์หมดแล้วตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ.1893 ตรงกับคริสต์ศักราช 1350 จึงได้มีการสถาปนานามเมืองใหม่เพื่อแก้อาถรรพณ์ว่า “กรุงศรีอยุธยา”  

เก็บความและภาพจาก

Black Death โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง, เอกสารการเสวนา "แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง"  จัดโดย กระทรวงวัฒนธรรม โครงการสนทนาวันศุกร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมติชน ข่าวสด เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2553 ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) กรุงเทพ.

สุจิตต์ วงษ์เทศ, "โรคห่า" ยุคพระเจ้าอู่ทอง คือกาฬโรคจากเมืองจีน, ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11407 มติชนรายวัน, คอลัมน์ สยามประเทศไทย.