ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แฉบริษัทบุหรี่รุกหนัก อาศัยสมาคมธุรกิจสหรัฐช่วยล็อบบี้ หวังล้มกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ เพราะไปสกัดกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ไม่ให้รุกล่าเด็กและเยาวชน เชื่อรัฐบาลจะไม่หลงลมพ่อค้าบุหรี่ และไม่พาประเทศถอยหลัง แต่เดินหน้าออกกฎหมายที่ทันกับกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ เพื่อลดคนสูบบุหรี่ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในการดูแลรักษาคนที่ป่วยเพราะบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทบุหรี่ทุ่มทุกวิถีทางที่จะล้มร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ได้ โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา บริษัทบุหรี่ได้เคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นขบวนการ โดยอาศัยสมาคมการค้ายาสูบไทยที่บริษัทบุหรี่ให้เงินสนับสนุน เป็นคนออกหน้าในนามร้านค้าปลีก และล่าสุดได้ยืมมือสภาหอการค้าอเมริกัน สภาธุรกิจอเมริกัน – อาเซียน สภาหอการค้าอเมริกันจากวอชิงตัน และสมาคมผู้ปลูกยาสูบนานาชาติ มาแทรกการออกกฎหมายของประเทศไทย ด้วยการส่งจดหมายถึง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางกระทรวง โดยอวดอ้างว่าเป็นสมาพันธ์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตัวแทนของธุรกิจกว่าสามล้านราย เพื่อแสดงถึงพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในการข่มขู่รัฐบาลไทยให้ยุติการพิจารณากฎหมาย

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สภาเหล่านี้เป็นสภาของธุรกิจเอกชน ที่มีผู้แทนของบริษัทบุหรี่เป็นสมาชิก และอยู่ในบอร์ดบริหาร ในอดีตบริษัทบุหรี่จะอาศัยสำนักผู้แทนการค้าหรือยูเอสทีอาร์ และสถานทูตเป็นผู้ล็อบบี้ให้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เพราะสหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามสำนักผู้แทนการค้าแทรกแซงกฎหมายควบคุมยาสูบของประเทศอื่น และประธานาธิบดีได้ออกคำสั่งของห้ามสถานทูตสหรัฐประจำประเทศต่างๆ สนับสนุนบริษัทบุหรี่อเมริกันในการส่งเสริมการค้ายาสูบ หรือแทรกแซงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของประเทศอื่น

“ผมยอมรับว่าผมเป็นห่วงอย่างมาก ที่เห็นกฎหมายและนโยบายของประเทศกำลังถูกแทรกแซงโดยบริษัท บุหรี่ข้ามชาติ ที่อาศัยองค์กรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นคนออกหน้าและทำงานกันเป็นเครือข่าย โดยมีบริษัทกฎหมายต่างชาติที่มีสาขาในประเทศไทย เป็นคนวางแผนและจัดการให้ ถือเป็นการรุกรานอธิปไตยของประเทศ และทำให้ประเทศไทยถอยหลัง เพราะการที่กฎหมายก้าวไม่ทันกับกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ จะทำให้เด็กและเยาวชน มีโอกาสติดบุหรี่มากขึ้น และในระยะยาวก่อภาระทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่หลงกลบริษัทบุหรี่ ผมมั่นใจว่าท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับอนาคตของเด็กและเยาวชน  ผมจึงฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ท่านนายกครับ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และอดีตนายกแพทยสมาคมโลกกล่าวว่า เหตุที่บริษัทบุหรี่รุกหนักเพื่อล้มกฎหมายนี้ให้ได้ เพราะบริษัทบุหรี่ต้องการท้าทายและลดทอนอำนาจรัฐ เพื่อให้ธุรกิจของตนจะได้ถูกคุมแบบหลวมๆ  เปิดช่องให้ตนเองขยายตลาดสู่เด็กรุ่นใหม่ได้ โกยกำไรจากคนไทยต่อไป ซึ่งขณะนี้เฉพาะบริษัทฟิลลิปมอร์ริส บริษัทเดียวก็โกยกำไรกลับบ้านเกิดปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ทิ้งไว้ข้าง หลังให้เป็นภาระของรัฐบาลไทยและสังคมไทย คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคจากบุหรี่จำนวนมหาศาล ไม่ต่ำกว่า ปีละ 50,000 ล้านบาท บริษัทบุหรี่ถือเป็นบริษัทที่ไร้จริยธรรม เพราะขายสินค้าที่ฆ่าลูกค้าของตัวเอง ยิ่งกว่านั้น เขาถือว่าเด็กและเยาวชนในวันนี้ คือลูกค้าคนสำคัญของเขาในอนาคต เพราะหากเด็กติดบุหรี่แล้ว ร้อยละ 70 จะเลิกไม่ได้และสูบต่อไปจนป่วยและตาย ส่วนอีกร้อยละ 30 จะสูบต่อไปอีกเฉลี่ยประมาณ 20 ปีกว่าจะเลิกได้ 

“อีกเรื่องที่สำคัญ และผมขอให้สังคมไทยติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ขณะนี้บริษัทฟิลลิป มอร์ริส กับพวก ถูก อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ฐานแสดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อ Marlboro และ L&M จากประเทศฟิลิปปินส์ ต่ำกว่า ความเป็นจริง เพื่อเลี่ยงภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ปี 2546-2550 ทำให้รัฐสูญเสียภาษีกว่า 68,000 ล้านบาท ผมและคณะได้ยื่นจดหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วถึงท่านอัยการสูงสุด ขอให้ท่านเร่งดำเนินการคดีดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ชำระภาษีที่หลบเลี่ยงไป คืนให้ประเทศไทยตามกฎหมาย”

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า กฎหมายฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 นั้น ใช้มานานมาก สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย การโฆษณา และการขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ตเหมือนทุกวันนี้ยังไม่มี พริทตี้ก็ยังไม่มี บารากู่ยังไม่เป็นที่รู้จัก บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังไม่เกิด ปัญหาสังคมในประเทศเรายังก็ไม่ซับซ้อนเหมือนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมของเยาวชน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงพยายามอุดช่องว่างของกฎหมายเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ ที่กฎหมายปัจจุบันไม่ครอบคลุม กฎหมายนี้ไม่ได้มีความสุดโต่งเกินจำเป็นตามที่บริษัทบุหรี่อ้าง แต่ในทางตรงกันข้ามมีความรัดกุม ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“คณะกรรมการยกร่างฯ เริ่มทำงานกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 เมื่อร่างเสร็จ ได้นำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน ซึ่งทั้งสมาคมผู้ค้าปลีก สมาคมชาวไร่ยาสูบ รวมทั้งบริษัทบุหรี่ และบริษัทกฎหมาย ที่บริษัทบุหรี่ว่าจ้างไว้ ก็ได้เข้าไปร่วมเวทีประชาพิจารณ์ และให้ความเห็นด้วย หลังจากนั้นคณะกรรมการได้ดำเนินการปรับปรุงอย่างรอบคอบถี่ถ้วน การที่เครือข่ายของบริษัทบุหรี่ออกมา เรียกร้องให้ท่านนายกชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ และขอเข้ามาแก้ไขมาตราต่าง ๆ นั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายได้ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นภารกิจของ ครม. และ สนช. ที่จะเป็นผู้พิจารณา” ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ กล่าว