ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ : มหากาพย์ความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังมืดมน ไร้ทางออกมาเป็นเวลานานนับปี แม้จะมีความพยายามเจรจาต่อเนื่องนานหลายเดือน แต่ผลกลายเป็นว่านอกจากปัญหาเดิมจะแก้ไม่ได้แล้ว ยังมีปัญหาใหม่ตามมาอีก

เรื่องสำคัญที่ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางฝุ่นตลบ ได้แก่ 1.ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมตัวกันงดส่งข้อมูลให้กับ สปสช. และยกเลิกการประชุมร่วมกัน จนกว่า สปสช.จะทำตามข้อเสนอของ สธ.แม้ภายหลัง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข จะมอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ไปแก้ปัญหาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

2.การออกหนังสือจาก นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ให้หน่วยบริการทั้งหมดในสังกัด สธ. ทำหน้าที่ "นายทะเบียน" รับลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ทำให้เด็กเกิดใหม่ปีละกว่า 8 แสนราย และ ผู้ประกันตนที่เคยย้ายสิทธิมาใช้บัตรทอง ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และ 3.หนังสือสั่งการลงนามโดย นพ.ณรงค์ ให้จัดตั้ง "สำนักงานเขตสุขภาพ" แบบสายฟ้าแล่บ ซึ่งมีโครงสร้างเสมือนหนึ่งว่าพร้อมรับการถ่ายโอนงบประมาณจาก สปสช.ไปยังเขตสุขภาพเต็มที่ โดยให้อำนาจผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธานสำนักงานเขตสุขภาพ และใช้องคาพยพทั้งหมดของ สธ.เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเขต มีโรงพยาบาลสังกัดอื่นเข้าร่วมเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญมากกว่าคือภาคประชาชน และ "ผู้ซื้อบริการ" กลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเขตสุขภาพเลย

ที่น่าสังเกต ก็คือ แม้จะมีปัญหารุมเร้า สธ. แต่ รมว.สาธารณสุข กลับใช้มุขประจำคือประชุมและพูดคุยร่วม ไม่กล้าเบรกข้อเสนอที่สุดโต่ง แม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทั้งสองหน่วยงานก็ตาม จนหมอรัชตะ ได้ฉายาจากคนในว่าเป็น "รัฐมนตรีโลกสวย" บุญยืน ศิริธรรม อดีต สว.สมุทรสงคราม บอกว่า ท่าทีของ สธ.ขณะนี้ มีพฤติกรรมที่สร้างปัญหาต่อระบบสุขภาพหลายอย่าง โดยเฉพาะคำสั่งให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนบัตรทองที่โรงพยาบาล สธ. และการสร้างเงื่อนไขในการไม่ทำงานร่วมกับ สปสช. ซึ่งชัดเจนว่าต้องการใช้ประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อต่อรอง โดยหาก รมว.สาธารณสุขไม่แก้ปัญหาและยังปล่อยให้มีการแสดงออก ก็น่าจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก

หนึ่งในข้อเสนอของภาคประชาชนและเครือข่ายฯ ผู้ป่วย ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของ สปสช. ที่ รมว.สาธารณสุขมารับฟังด้วยตัวเอง ก็คือ เร่งให้ทั้งสองหน่วยงานยุติความขัดแย้งโดยเร็ว รวมถึงให้ สธ.กลับมาทำหน้าที่รับจดทะเบียนผู้ใช้สิทธิบัตรทองอย่างไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้ บุญยืน ยังแสดงท่าทีไม่มั่นใจใน "เขตสุขภาพ" ของ สธ. เนื่องจากไม่มั่นใจในระบบการบริหารจัดการ รวมถึงหากนำงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไปบริหารงานแล้ว อาจเกิดปัญหา "ติดลบ" อย่างที่หลายฝ่ายกังวลก่อนหน้านี้

ทว่า แม้ปีนี้เวทีรับฟังความคิดเห็นของ สปสช.จะคึกคักเป็นพิเศษเนื่องจาก รมว.สาธารณสุขอยู่ร่วมด้วยตั้งแต่ช่วงเปิดงาน จนถึงปิดประชุม แต่ก็น่าสังเกตว่าผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำ ทั้ง นพ.ณรงค์ และ นพ.วชิระ ไม่ได้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย

ศ.นพ.รัชตะ บอกว่า ความเห็นต่างยังคงมีกระบวนการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ที่ยังเป็นปัญหา เชื่อว่าน่าจะจบในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 9 ก.พ.นี้

"ยังคงเดินหน้าตามขั้นตอนปกติ แต่ที่พิเศษคือได้ตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว โดยมี อาจารย์อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และก่อนจะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ก็ยังต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการการเงินการคลังอีกครั้ง ช่วงนี้จึงไม่ควรมีความเคลื่อนไหวอะไร จนกว่าจะได้ข้อสรุป" ศ.นพ.รัชตะ ระบุ

ล่าสุดมีรายงานว่าทั้งฝั่งภาคประชาชนและฝั่ง สธ. เตรียมพลังการ "ล็อบบี้" กันเต็มที่ เพื่อให้เรื่องยืดเยื้อจบในการประชุมบอร์ด ฉะนั้นการประชุมในวันที่ 9 ก.พ.นี้ จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558