ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอจรัล” สรุปประเด็นรับฟังความเห็นต่อ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ระดับประเทศ ปี 2558 เสนอรัฐเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว หลังคงอัตราต่อเนื่อง 3 ปี กระทบหน่วยบริการ สร้างความขัดแย้งระบบสาธารณสุข จัดงบช่วยเหลือ รพ.ขาดสภาพคล่องและตามแนวชายแดน พร้อมชี้ สธ.-สปสช.ควรทำงานร่วมกัน หลังขาดเอกภาพ ส่งผลต่อหน่วยบริการ เตรียสรุปและวิเคราะห์ความเห็นทั้งหมดเสนอต่อ บอร์ด สปสช. พร้อมเดินหน้ารับฟังความเห็นเพิ่ม ประเด็นที่ยังเห็นต่าง ทั้งการแยกเงินเดือน และการร่วมจ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน  

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่าพันคน โดยได้แบ่งการรับฟังความเห็นออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และ 8.องค์กรที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเครือข่ายวิชาชีพ

นพ.จรัล กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นข้างต้นนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยประเด็นหลักๆ จะมุ่งเน้นไปยังการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนา รวมถึงการนำเสนอทางออกเพื่อแก้ไขในประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาขัดแย้งในขณะนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ สรุปภาพรวมความเห็นเบื้องต้น ได้แก่ ประเด็นงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเห็นตรงกันว่างบประมาณที่ได้รับในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะที่ผ่านมายังมีการคงงบประมาณในอัตราเดิมต่อเนื่อง 3 ปี ส่งผลกระทบต่อการบริหารของหน่วยบริการและเป็นสาเหตุความขัดแย้ง จึงเห็นควรที่ภาครัฐต้องเพิ่มเติมงบในส่วนนี้, การขยายสิทธิการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่ไม่มีเลข 13 หลัก ทั้งที่เป็นคนไทยและไม่ใช่คนไทย รวมถึงที่อยู่ตามชายแดน โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลเฉพาะ, การจัดงบสนับสนุนหน่วยบริการพื้นที่ทุรกันดารเพื่อให้มีสภาพคล่องขึ้น, ให้คงกองทุนโรคค่าใช้จ่ายสูง โดยปรับ DRG ให้เหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเห็นว่า สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข ในระดับนโยบายควรทำงานกำหนดนโยบายและแนวทางร่วมกัน เช่น กำหนดงบเหมาจ่ายรายหัวที่ใช้ข้อมูลเดียวกัน การพัฒนามาตรฐานร่วมกัน ทั้งมาตรฐานการบริการ และการดำเนินงานของ รพ.สต. เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังขาดความเป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตามยังมีบางประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างยังคงต้องหาแนวทางร่วมกัน ได้แก่ การแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อแก้ไขปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง , การบริหารกองทุนในรูปแบบเขตสุขภาพ และข้อเสนอที่ให้มีการร่วมจ่าย เป็นต้น

นพ.จรัล กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ จะรวบรวมประเด็นที่มีการนำเสนอทั้งหมดมาวิเคราะห์และคัดแยกให้มีความชัดเจนเพิ่มเติม ประเด็นใดที่เป็นอำนาจของ สปสช. จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อกลั่นกรองและนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณา ส่วนในประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างนั้น เนื่องจากขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้และผู้รับบริการทั่วประเทศที่เป็นไปตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 18 (3) โดยปี 2558 นี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ ได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นแล้ว 2 เขต คือ พื้นที่เขต 3 นครสวรรค์ และ เขต 11 สุราษฎร์ธานี และจะเดินหน้าให้รับฟังความเห็นให้ครบทั้ง 13 เขต เช่นเดียวกับทุกปี ซึ่งยังคงสามารถรวบรวามความเห็นในประเด็นที่เห็นต่างเพื่อนำมาสรุปเพิ่มเติมได้