ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธารณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์  ได้เวลากระจายอำนาจ รพ. กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย

ตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’

ตอนที่ 8 นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"

ตอนที่ 9 เปิดความคิด หมอรางวัลเจ้าฟ้า “ความเท่าเทียมต้องสำคัญที่สุด” นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร

ตอนที่ 10 ระบบบริการสุขภาพต้องเป็นของ “รัฐ” อย่าปล่อยให้เข้าสู่ “ตลาดเสรี”

ตอนที่ 11 ‘นพ.วัฒนา นาวาเจริญ’ ถึงเวลา “ร่วมจ่าย” แก้ปัญหาเงินฝืด

ตอนที่ 12 นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ตั้งรับความเปลี่ยนแปลงโลก ระบบบริการสุขภาพต้องปรับตัว

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 13 นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ ระบบสุขภาพ รากฐานสำคัญต้องอยู่ที่ชุมชน

นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์

ตลอด 12 ปี ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าไว้ตลอดเวลาว่า การถ่ายโอนอำนาจการส่งเสริมสุขภาพ จะต้องถูกกระจายไปยังชุมชนมากขึ้น ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงวางแผนไว้ด้วยซ้ำว่า อาจถึงเวลาในการถ่ายโอนให้สถานพยาบาลในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาในพื้นที่ เท่ากับคนที่อยู่ในพื้นที่เอง

ทว่า สุดท้ายการกระจายอำนาจ กลับเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า และสุดท้าย การกระจายอำนาจนี้เอง กลับกลายเป็นประเด็นสำคัญ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขัดแย้ง จนหาทางออกไม่ได้ยาวนานข้ามปี ทั้งที่ทั้ง 2 หน่วยงานมีจุดประสงค์หลักคือการกระจายอำนาจ และมีปลายทางคือการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” เช่นกัน

นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู และอดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ยังมีอยู่สูง และการพยายามสร้างความเท่าเทียม ยังคงเป็นไปได้ยาก

“สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ขณะนี้สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำโดยธรรมชาติ เพราะการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง พวกที่อยู่ปลายทาง กลับถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว” นพ.ศราวุธ เล่าให้ฟัง

เขาบอกว่า การที่พูดว่า “ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” นั้น ยังไม่อาจเกิดขึ้นจริง เพราะขณะนี้ ระบบยังมีมาตรฐานที่แตกต่างชัดเจน โดยเฉพาะระหว่างเมืองกับชนบท แต่การดูแลผ่านระบบการเงินการคลัง ของรัฐบาล และของสปสช. กลับใช้ระบบเดียวกัน

“ยกตัวอย่างง่ายๆ โรงพยาบาลในชนบท ไม่มีทางได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่าในเมือง จำนวนเจ้าหน้าที่ บุคลากรก็ไม่เท่า มันไม่ใช่ 1+1 เท่ากับสองเสมอไป และอีกอย่างหนึ่งคือเราไปเน้นระบบการเงินการคลัง มีระบบบัตรทอง ที่เหมือนกับว่าทุกคนเท่ากัน แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือมันทำให้เท่ากันไม่ได้” นายกอบจ.หนองบัวลำภู ระบุ

เขาขยายความเรื่อง “ความไม่เท่าเทียม” ของบัตรทอง ผ่านกองทุนดูแลผู้พิการ ซึ่งใช้หลักการที่ว่า หากหักงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เพื่อดูแลผู้พิการแล้ว ผู้พิการทุกคนจะต้องได้รับการดูแลด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับทำไม่ได้เลย เพราะบางอำเภอ ไม่มีเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์ฟื้นฟู ไม่มีคนทำกายภาพ ซึ่งเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ นี้ ก็ทำให้เท่าเทียมไม่ได้เสียแล้ว

“ผมไม่ได้บอกว่าระบบ 30 บาทไม่ดี มันคือความพยายามที่ดี แต่เรื่องระบบสุขภาพ มันไม่ใช่แค่กระทรวงกับสปสช. แต่มันคือการกระจายตัวของแพทย์ การพัฒนาขีดความสามารถของแพทย์ หรือการจัดการแพทย์ ให้อยู่อย่างเหมาะสมได้ ซึ่งยังมีอีกหลายจุดต้องต่อเติมให้เต็ม โดยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งโรงเรียนแพทย์ กระทรวงฯ หรือสปสช. แต่ทุกคนกลับไม่เคยมาร่วมกันวางแผน ผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร”นพ.ศราวุธกล่าว

ระบบสุขภาพถึงเวลา “สร้างนำซ่อม”

คุณหมอศราวุธ สรุปปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญขณะนี้จากมุมมองคนนอกไว้อย่างน่าสนใจ 3 ข้อ คือ 1.ความไม่เป็นธรรมของระบบกำลังคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ที่ไม่มีกำลังคนมากพอ 2.การกระจายตัวของโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันหมอยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมือง ทำให้จำนวนหมอไม่พอ และ 3.คนไข้เน้นเข้าโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร ทำให้กลายเป็นว่าละเลยการดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งผลที่ตามมาคือโรคพฤติกรรม ทั้งความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มขณะนี้น่ากังวลขึ้นมากว่า หากสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบหากจะมีคนไข้มากขนาดไหน

โดยเฉพาะเมื่อมองระบบสุขภาพระยะยาวไปถึงอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังไม่มีการแก้ไข ก็มีความเป็นได้มากที่ความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นสูงมากขึ้น และเป็นผลให้การจัดการโรคพฤติกรรม ประสบความสำเร็จยากตามไปด้วย ทั้งที่ความเป็นจริง วิธีแก้ทำได้ง่ายๆ ด้วยการให้ประชาชน เริ่มต้นดูแลสุขภาพของตัวเองเท่านั้น

“เราอยากเห็นความเป็นธรรม เท่าเทียม ครอบคลุม และอยากเห็นระบบสุขภาพของชุมชน ที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่ของหมอ หรือกระทรวงสาธารณสุขผู้เดียวที่เป็นเจ้าของ นอกจากนี้ การไปโรงพยาบาลก็ไม่ควรไปเพื่อหาหมอ แต่ควรจะเป็นการเพื่อหาคำแนะนำในการดูแลตัวเองด้วย ซึ่งหากทำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาคนล้นโรงพยาบาล และจะแก้ปัญหาหมอไม่มีเวลาตรวจคนไข้ได้ ทางออกของระบบสุขภาพ 10 ปีข้างหน้า ก็คือการสร้างความเป็นเจ้าของอย่างมีส่วนร่วม ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสุขภาพของตัวเอง” นพ.ศราวุธ แสดงความคิดเห็น

“ผมคิดว่าปัจจุบัน เรามองโรงพยาบาลไว้เป็นที่ซ่อมร่างกาย เวลาเกิดปัญหาอย่างเดียว แต่ถ้าเรามองในมุมกลับ ให้คนเห็นว่า เราสามารถซ่อมร่างกายด้วยตัวเราเองได้ เป็นการ ‘สร้างนำซ่อม’ จากการมามองกันว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีนี้ คุมอาหารด้วยวิธีนี้ ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง”

นอกจากนี้ ในทางกลับกัน สปสช. ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายด้วย เช่น ก่อนหน้านี้ หากโรงพยาบาลมีอัตราครองเตียงมาก จะได้เงินสนับสนุนมาก ก็ต้องเปลี่ยนเป็น หากมีอัตราครองเตียงน้อย คนเข้ามารับการรักษาน้อย จะมีแรงจูงใจมาก และได้รับงบประมาณเพิ่ม ก็น่าจะเป็นประโยชน์

นายกอบจ.หนองบัวลำภู บอกอีกว่า ปัจจุบัน ขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่รัฐกำหนดให้ทำเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องสุขภาพ ท้องถิ่นอาจดูได้ทั้งเรื่องของการควบคุมสารเคมี การควบคุมอาหารปลอดภัย หรือเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ และหากรัฐมอบภารกิจ มอบงบประมาณ ให้ควบคุมโรคพฤติกรรม ท้องถิ่นก็สามารถทำได้ทันที และทำได้ดีกว่าส่วนกลางด้วยซ้ำไป

“กระทรวงสาธารณสุข หรือสปสช. ควรคิดได้แล้วว่า หากสนับสนุนให้ท้องถิ่นฯ ดูแลอาหารการกินของคนในพื้นที่ หรือเพิ่มกิจกรรมออกกำลังกาย จนคนในพื้นที่ของเขาแข็งแรงกันทุกคน ผลลัพธ์ก็คือ คนไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องไปรับยา ทั้งสองหน่วยงานก็จะสบายขึ้น ไม่ต้องไปห่วงแล้วว่าจะเอางบประมาณที่ไหนไปขยายโรงพยาบาล จ้างคนเพิ่ม” นพ.ศราวุธระบุ

ขณะที่ทิศทางการกระจายอำนาจนั้น นพ.ศราวุธ บอกว่า คงยังไม่สามารถทำให้ทุกโรงพยาบาลเป็นเหมือนโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วประสบความสำเร็จ คือความพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณ กำลังคน และความสามารถในการบริหารงาน ซึ่งเมื่อต้องผสมทุกปัจจัยเข้าด้วยกันจะพบว่า อาจมีโรงพยาบาลที่พร้อมทำได้เพียงไม่กี่แห่ง โดยหากอยากให้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องเริ่มสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่  และลดการตัดสินใจบางอย่างจากส่วนกลางลง แล้วทดลองไปทีละขั้นว่าจะทำได้หรือไม่

ส่วนการกระจายอำนาจแบบ “เขตบริการสุขภาพ” นายกอบจ.หนองบัวลำภู คิดว่าน่าจะเป็นไปในแนวทาง “เขตสุขภาพประชาชน” ที่คสช.สนับสนุนมากกว่า เพราะเขตบริการสุขภาพของสธ.ขณะนี้ เป็นเขตในเชิงอำนาจ ทั้งการจัดการ คน เงิน และของ ซึ่งหากเดินหน้าต่อไปก็จะยิ่งสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

“เขตสุขภาพในความเห็นผมควรตั้งต้นด้วยหลักการว่า ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ ‘เขตสุขภาพ’ ได้ ไม่ใช่ของสธ. หรือของโรงพยาบาล และเขตสุขภาพต้องลงไปถามคนในเขตจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร เพื่อทำหน้าที่ประสานทั้ง สปสช. สธ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย น่าจะดีกว่ายุ่งกับเรื่องเชิงอำนาจ เพราะวันนี้เห็นชัดว่าแค่เริ่มก็ขัดแย้งแล้ว” นพ.ศราวุธ ระบุ

เขายังมองรูปแบบการมีส่วนร่วม ที่หน่วยงานราชการพยายามทำขณะนี้ เป็นเพียงการตั้ง “กรรมการร่วม” ให้เห็นว่ามีตัวแทนครบๆ ไปมากกว่า แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมจริงๆ เพราะการตัดสินใจทุกอย่างยังมาจากส่วนกลาง และเงินงบประมาณก็ยังมาจากส่วนกลาง พอมาถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน กลายเป็นปลายทางแล้ว

“การมีส่วนร่วมควรต้องเป็นคณะกรรมการที่เริ่มกำหนดประเด็น พูดคุยกันเป็นประจำ และร่วมตัดสินใจ ว่าในชุมชนเห็นตรงกันในทิศทางใด ถึงจะนำไปสู่หน่วยงานอื่น ซึ่งผมคิดว่า กลไกที่สปสช.ทำนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะสามารถพัฒนาให้หลายพื้นที่มีกลไกการมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ หากสามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารกำลังคนในพื้นที่ เช่น จะใช้ทุนก็เข้าไปใช้ในพื้นที่ ไม่ให้สธ.ส่งเข้ามาอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนก็น่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง” นายกอบจ.หนองบัวลำภูกล่าว

 ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสปสช.และสธ.นั้น เขามองในฐานะคนนอกว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะบทบาทถูกแยกไว้ชัดเจน แต่บางส่วนยังคาบเกี่ยวกัน แต่ปัญหาก็คือ ทั้งสองฝ่ายยังยืนอยู่ในจุดยืนของตัวเอง มากกว่าจะมาพูดคุยกัน

“ผมคิดว่าทั้งสองหน่วยงานต่างปรารถนาดี สปสช.ที่เป็นผู้ซื้อนั้น ประชาชนชอบมาก แต่หน่วยบริการอาจจะอึดอัดว่าทำไมต้องทำนู่นทำนี่เพิ่ม แล้วเกิดความไม่พอใจว่า ทำไมต้องทำทุกอย่างที่ผู้ซื้อสั่ง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องย้อนกลับไปที่คำถามเดิมว่า หากกระทรวงทำเอง จะตอบโจทย์แบบที่สปสช.ทำหรือไม่ และหากผู้ซื้อสั่งไปแล้ว ฝ่ายผู้ให้บริการไม่ทำตาม สุดท้ายประชาชนจะเสียประโยชน์หรือไม่ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางออกอื่นนอกจากจะพูดคุยกันให้ปัญหาจบ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้สองคนมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมาได้” นพ.ศราวุธกล่าว

หากไม่ทำอะไร ระบบสุขภาพยิ่งเหลิ่อมล้ำ

ถามถึงเรื่องการสร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ นายกอบจ.หนองบัวลำภู บอกว่า แน่นอน ทุกคนอยากให้เท่าเทียมมากขึ้น และพยายามสร้างกลไกเพื่อพัฒนาความเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์ อาจเหมือนกับการ “ถือครองที่ดิน” ที่สุดท้ายกลายเป็นว่าเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ คนจนก็จนขึ้น และคนรวยก็เรื่อยขึ้น รัฐอาจจึงต้องควบคุมความเท่าเทียมของแต่ละโรงพยาบาล และแต่ละระบบประกันสุขภาพของแต่ละกองทุนมากขึ้น แต่ด้วยความขัดแย้งขณะนี้ ก็ยังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

“แต่ถ้าเราให้น้ำหนักเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพแทน จนคนไม่ป่วย และมีสุขภาพแข็งแรง เราก็จะเลิกทะเลาะกันเรื่องเงินเสียทีว่าควรจะอยู่ที่ใครมากใครน้อย”  

ส่วน “ความเท่าเทียม” หรือ “มาตรฐาน” สำคัญกว่านั้น คุณหมอศราวุธ บอกว่า ต้องเริ่มจากเท่าเทียม และพัฒนาเป็น “เท่าเทียมอย่างมีมาตรฐาน” ซึ่งก็ต้องกลับมายังจุดเดิมว่า จะให้อำนาจท้องถิ่นร่วมกันกำหนดโจทย์ด้านสุขภาพของตัวเองได้หรือไม่ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าการสร้างความเท่าเทียมที่มาจากส่วนกลางอย่างเดียว แก้ปัญหาได้อย่างเชื่องช้า

“ผมไม่ได้บอกว่าประสิทธิภาพนั้นไม่ดี แต่ปัจจุบัน ความเท่าเทียมยังมีปัญหา โรงพยาบาลบ้านนอกยังตามโรงพยาบาลในเมืองไม่ทันอีกมาก เพราะฉะนั้น เราควรร่วมกันสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งจากท้องถิ่นมาก่อนเพื่อดูแลพื้นที่ของแต่ละคนให้เท่าเทียมมีมาตรฐาน ส่วนประสิทธิภาพอาจต้องใช้เวลา แต่ความเท่าเทียมต้องเมื่อมาก่อน ก็สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพตามมาได้ง่ายขึ้น” นพ.ศราวุธระบุ

ติดตามตอนต่อไป สุรีรัตน์ ตรีมรรคา สุขภาพมาตรฐานเดียว ราคาเป็นธรรม สร้างความมั่นคงทางยา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง