ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธารณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์  ได้เวลากระจายอำนาจ รพ. กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย

ตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’

ตอนที่ 8 นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"

ตอนที่ 9 เปิดความคิด หมอรางวัลเจ้าฟ้า “ความเท่าเทียมต้องสำคัญที่สุด” นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร

ตอนที่ 10 ระบบบริการสุขภาพต้องเป็นของ “รัฐ” อย่าปล่อยให้เข้าสู่ “ตลาดเสรี”

ตอนที่ 11 ‘นพ.วัฒนา นาวาเจริญ’ ถึงเวลา “ร่วมจ่าย” แก้ปัญหาเงินฝืด

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 12 นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ตั้งรับความเปลี่ยนแปลงโลก ระบบบริการสุขภาพต้องปรับตัว

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ภาพอนาคตที่ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายให้เห็นนั้น ไม่ใช่การทำนายว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นในอีก 10 ข้างหน้า หากแต่เป็นการวาดฝัน (scenario) ในสิ่งที่สังคมไทยควรจะเดินไปถึง

ศ.นพ.ไพบูลย์ ตั้งต้นจากการชวนให้มองภาพใหญ่คือความเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมกัน ก่อนจะลงลึกถึงรากฐานและวิธีคิดหลักของคนในสังคมไทย เพื่อเชื่อมต่อไปสู่อนาคตระบบสุขภาพในทศวรรษหน้า

โลกเปลี่ยนไป ไทยต้องเปลี่ยนตาม

ส่วนตัวคิดว่าระบบสุขภาพเป็นเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย เราอยู่ในระบบใหญ่ของสังคมโลกที่แปรเปลี่ยนไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นก็คือ ระบบบริการสุขภาพไทยในอนาคตเป็นระบบที่มีขีดความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวได้มากกว่าที่ผ่านมา

“ประเด็นแรก ถ้าเราเชื่อคำทำนายของนักวิทยาศาสตร์สิ่งที่ต้องเผชิญคือค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของโลกแปรเปลี่ยน 4-6 องศา แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก คำถามคือเราจะดำรงอยู่อย่างไรเมื่อพืชพันธุ์ อาหาร ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนทั้งหมด ถ้าเราไม่เรียนรู้และปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ผมเชื่อว่ามรดกที่คนรุ่นผมจะฝากไว้ให้คนรุ่นหลานจะเป็นเรื่องที่น่าอดสูใจมาก”    

ประเด็นที่ 2 ก็คือ “เทคโนโลยี” ซึ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนไปได้หลายรูปแบบ ประเด็นที่ 3 คือ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ปัจจุบันฐานอำนาจได้ขยับจากแกนตะวันตกมาสู่แกนตะวันออก การปะทะกันเพื่อช่วงชิงฐานอำนาจจะเกิดขึ้น ภูมิภาคอาเซียนก็จะกลายเป็นสมรภูมิ ถามว่าเราจะปรับตัวเพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างไร

“ทั้งหมดคือการเปลี่ยนแปลงของโลกในสายตาผม ดังนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าประเทศไทยยังใช้วัฒนธรรมและระบบคุณค่าอย่างเดิมๆ คือฝากความหวังไว้กับศูนย์อำนาจใดศูนย์อำนาจหนึ่ง คือไม่พยายามที่จะเป็นตัวของตัวเอง รู้จักเรียนรู้แล้วปรับตัวในลักษณะร่วมกันระดมสมอง”

สร้าง “คลังสมองชาติ” สู่การ “กระจายอำนาจ”

ภาพในอนาคตที่ต้องการจะเกิดขึ้นจริงได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” นั่นเพราะการเรียนรู้และปรับตัวด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีธรรมาภิบาล นั่นเพราะคนไทยจะไม่สามารถมีความสุขกับมุมมองที่แตกต่าง หรือความเห็นที่แตกต่างได้

คำถามคือ แล้วเราจะจัดการอย่างไรถ้าอยากเห็นธรรมาภิบาล

เราต้องการ “กลไกระดับชาติ” ที่จะช่วยให้สังคมไทย “เห็นภาพรวมร่วมกัน” โดยตั้งต้นที่จะต้องมี “คลังสมอง” ของประเทศ เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ที่มี Institute of Medicine ทำงานภายใต้อาณัติของสภาคองเกรส มีหน้าที่รวบรวมความรู้โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง คิดค้นควานหาข้อเท็จจริงและนำไปสู่การหารือร่วมกัน

ด้วยกลไกเช่นนี้ จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมบนฐานความรู้ ทำให้การรับรู้ของทุกองคาพยพในสังคมนี้ “ใกล้เคียง” กัน เพราะคนเราถ้ารับรู้ต่างกันก็จะเอาเปรียบกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสร้างฉันทานุมัติด้วยการกีดกันปิดบังความจริง

อย่างไรก็ดี กลไกระดับชาตินี้ไม่ได้หมายความถึงกลไกที่มีอำนาจสั่งการ

ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ จากในอดีตที่ระบบสั่งการและระบบราชการเป็นใหญ่ แต่ขณะนี้เรากำลังก้าวไปสู่ยุค “การใช้ความสัมพันธ์เชิงตลาด-เงิน” เป็นใหญ่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ว่าเป็นกลไกที่ใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาจัดระบบความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดบริการ แน่นอนว่ามีทั้งด้านดีมีทั้งข้อจำกัด

“แต่ทิศทางข้างหน้าคือ ควรจะเข้าสู่ยุคที่เน้นความ “สัมพันธ์เชิงเครือข่ายแบบเท่าเทียมแนวราบ” ไม่ใช่ทั้งเอาเงินเป็นใหญ่และอำนาจสั่งการเป็นใหญ่ แต่ต้องเอา “คุณค่าความเป็นมนุษย์-ศักดิ์ศรีที่ทัดเทียมกัน” เป็นใหญ่ เพื่อให้โอกาสทุกคนได้มีตัวแทน มีปากมีเสียง มีทางเลือกโดยอิสระ

ที่สุดแล้วธรรมาภิบาลจะนำไปสู่ “การกระจายอำนาจ”

หากพูดอย่างไม่ระวังก็จะถูกมองอย่างสุดโต่งว่า กระจายอำนาจโดยไม่มีศูนย์กลางอำนาจใดๆ ทุกอย่างเป็นอิสระหมด แนวทางนี้จะทำให้เกิด “การแข่งขันอย่างทำลายล้าง” ดังนั้นการกระจายอำนาจต้องมีความสมดุลกัน ระหว่างอำนาจบางอย่างที่ควรจะรวมศูนย์กับอำนาจบางอย่างควรจะกระจาย

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ในวงการแพทย์เราไม่สามารถทำให้ทุกจังหวัดมีศัลยแพทย์โรคหัวใจได้ทัดเทียมกัน นั่นหมดเพราะทรัพยากรมีจำกัด นั่นจึงต้องมีการรวมศูนย์ ดังนั้นการรวมศูนย์จึงไม่ได้หมายถึงการรวมเพื่อให้มีอำนาจในการสั่งการ หากแต่ต้องเป็นไปเพื่อให้ทำงานได้อย่างสอดคล้องกับความจำเป็นของทรัพยากร ขีดความสามารถ และจำนวนผู้ป่วย

อีกด้านหนึ่งของ “กระจายอำนาจ” คือการทำให้คนในท้องถิ่นย่อยๆ สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ นั่นเพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างในมุมเล็กๆ แค่เรื่องการจัดบริการในภาคเหนือที่ตอนบนมีพื้นที่ภูเขาเป็นส่วนใหญ่จะไม่มีทางใช้รูปแบบเดียวกับพื้นที่ราบได้เลย ยังไม่นับความซับซ้อนอื่นๆ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี

นอกจากนี้ ประเทศไทยอยู่ในวัฒนธรรมสุดโต่ง 2 ด้าน กล่าวคือด้านหนึ่งไม่เห็นคุณค่าของความรู้และข้อเท็จจริง อีกด้านหนึ่งมีสิ่งเหล่านี้แต่กลับหวงแหนไม่ให้คนอื่นรู้ โดยความสุดโต่งเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้าง “สังคมโปร่งใส” ที่จะทำให้คนทุกคนเข้าถึงข้อเท็จจริงที่ทัดเทียมกัน เพื่อนำมาสร้างประโยชน์แก่สังคม

“ผมอยู่ที่รามาธิบดีแล้วกดคลิก 5 ครั้ง ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลอัตราการตายบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกาย้อนหลังได้ถึง 10 ปี ผมเคยมีโอกาสถามเจ้าของฐานข้อมูลนี้ว่าทำไมถึงใจดียอมเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ เขาตอบว่าเขาไม่ได้ใจดี แต่หวังว่าเมื่อคนอื่นเอาข้อมูลไปใช้แล้ว จะบอกเขาได้ว่าข้อมูลของเขามีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง”

เหล่านี้คือท่าทีต่อข้อมูลและความโปร่งใส ที่แตกต่างไปจากประเทศไทย

“ประเทศไทยมี HITAP มี IHPP ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งสององค์กรนี้มีจุดแข็งคืออยู่ใกล้ชิดกับผู้กำหนดนโยบายและสถานการณ์ของประเทศ แต่ไกลพอที่จะมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง แต่ประเทศไทยกลับไม่มีการกำหนดกลไกมารองรับให้ทั้งสององค์กรนี้กลายเป็นสถาบันได้ ส่งผลให้ชะตากรรมของทั้งคู่ไม่แน่ไม่นอน”

ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยยังต้องการกลไกเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นจึงต้องหากลไกมารองรับองค์กรเช่นนี้ พร้อมกันนี้ทั้งมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำภารกิจให้ความรู้แก่สังคม

คนหันหลังให้ระบบประกันเพราะเสื่อมศรัทธา

ทิศทางประเทศไทยในขณะนี้ มีแนวโน้มว่าสังคมเริ่ม “หันหลัง” ให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ของกรมบัญชีกลาง โดยสถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครึ่งหนึ่งของคนที่มีสิทธิบัตรทอง หรือ 50% เลือกไม่ใช่สิทธิบัตรทองในกรณีคนไข้นอก

“แม้จะมีสิทธิรักษาฟรีและเข้าถึง แต่เขายังเลือกจะจ่ายเงินเองเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงเรียนแพทย์ เพราะเขาเสื่อมศรัทธาเรื่องคุณภาพ เขาไม่มั่นใจว่าเข้ารับการรักษาแล้วจะหายขาดจากโรค สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องปรับปรุงแก้ไขให้ทุกคนเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ”

คำถามคือ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าสังคมไทยเคลื่อนต่อไปโดยไม่สนใจคุณภาพการให้บริการ

“ทุกๆ ปี ประชาชนเสียภาษีให้กับ 3 กองทุนนี้ เพื่อให้ไปซื้อบริการแทนคนไทย แต่คนไทยกลับไม่ใช้และยังใส่เงินของตัวเองเข้าไปในระบบบริการสุขภาพอีก ทั้งหมดนี้คือความสูญเปล่า แน่นอนว่าในอนาคตค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความโน้มเอียงโดยมองว่าเรื่องป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่ “หน้าที่” ของตัวเอง ปัญหาก็คือถ้าทุกคนคิดแต่ “สิทธิ” โดยไม่คิดถึงหน้าที่ ตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่จะสูบที่ไหนก็ได้เพราะเป็นสิทธิ ถามว่าคนที่เจ็บป่วยจากความบุหรี่มือสองจะทำอย่างไร แน่นอนนั่นหมายถึงค่าใช้ด้านสุขภาพ นี่คือ “หน้าที่” ของคนสูบบุหรี่หรือไม่ ในฐานะคนๆ หนึ่งในสังคม ที่พึงมีกับคนในสังคม

เรื่องบุหรี่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีอีกเช่นกันว่า สังคมไทยได้สร้างคุณค่าของสังคมปลอดบุหรี่มาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว รูปธรรมจากการล่ารายชื่อ 6 ล้านรายชื่อ เพื่อแสดงความประสงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ในวันนั้น ทำให้ในวันนี้ทุกคนนั่งในห้อง ขึ้นรถบัส หรือเข้าโรงภาพยนตร์ ได้อย่างสบายใจว่าจะไม่มีควันบุหรี่

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการในอนาคตคือ ความเข้มแข็งทั้งทางวิชาการและกลไกทางสถาบันที่จะทำให้คนในระบบบริการสุขภาพ และคนนอกระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งภาคธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การโฆษณาเพื่อดึงดูดให้คนบริโภคสินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อสังคม

“ผมไม่เชื่อที่จะฝากความหวังไว้กับจิตสำนึก เราต้องสร้างกติกาทางสังคม อย่างเช่นที่เราสำเร็จมาแล้วในเรื่องบุหรี่”

ราชการ-เอกชน ต้องเดินคู่กัน

อีกประเด็นสำคัญ หากเราไม่มีการพัฒนาระบบสุขภาพก็คือ มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเป็น “เบี้ยหัวแหลก” ในภาคสาธารณะ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ คนไข้ในห้องฉุกเฉินรายหนึ่งสมควรได้รับการย้ายมารักษาในห้องคนไข้ในนานแล้ว แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าควรย้ายหรือไม่ย้ายกลับมีเพียงแพทย์ประจำหน่วยเฉพาะโรคของคนไข้เท่านั้น ปัญหาก็คือแพทย์รายนี้ไม่ได้มองภาพรวมของเตียงโรงพยาบาล ไม่ได้เห็นว่ามีคนไข้จำนวนเท่าใดที่รอคิวเข้าห้องฉุกเฉินอยู่ นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของความแปลกแยก

แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับภาคเอกชน ที่พบว่ามีการ “ตกผลึก” หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว และขยายปีกออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น “เครือโรงพยาบาล” มีอิทธิพลต่อตลาดบริการสุขภาพทั้งในประเทศไทย ก้าวสู่ภูมิภาค และยังมีวิสัยทัศน์สู่ระดับโลก นั่นคือสัญญาณความเข้มแข็ง และการตกผลึกของพลังการจัดการของภาคเอกชน

แต่ถามต่อว่าสังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไรถ้าสังคมนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เอากำไรเป็นตัวตั้ง สังคมจะไม่มีความเท่าเทียม และจะทำให้สภาพเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพมากขึ้น เฉกเช่นที่ สหรัฐอเมริกา เผชิญอยู่

ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความขัดแย้งในขั้นรากฐาน ค่ายหนึ่งเน้นไปที่ความเท่าเทียมกับสังคม ให้น้ำหนักกับการดูแลผู้ด้อยโอกาส ให้น้ำหนักกับการมีส่วนร่วม ให้น้ำหนักกับการป้องกันมากกว่าการรักษา อีกค่ายหนึ่งให้น้ำหนักกับการรักษาพยาบาล การตั้งรับเยียวยา ให้น้ำหนักกับผลกำไร

คำถามคือ แล้วเราควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

“แนวโน้มที่เห็นในอนาคตคือเราทำเช่นนั้นไม่ได้ เราไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ของภาคเอกชนในประเทศนี้ ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลเอกชนคงไม่โตและมีอำนาจต่อรองทางการเมือง นั่นแปลว่าสังคมไทยมีคุณค่าขั้นรากฐานที่ยอมรับการดำรงอยู่ของโรงพยาบาลเอกชน”

“นั่นก็ไม่ได้แปลว่าในสายตาของประชาชน โรงพยาบาลเอกชนจะเป็นวายร้ายทั้งหมด เช่นเดียวกับระบบราชการที่ไม่ได้มีข้อดีทั้งหมด คำถามก็คือ ทั้ง 2 คุณค่านี้จะดำรงอยู่ได้อย่างไร”

ทั้งหมดก็กลับไปเรื่องการมีส่วนร่วม การมีธรรมาภิบาล เราต้องการกติกาใหญ่ของสังคม จะคาดหวังการปฏิรูปเฉพาะวงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558

ตอนต่อไปติดตาม นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ ระบบสุขภาพ รากฐานสำคัญต้องอยู่ที่ชุมชน