ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ข่าวสด : ไชโย ในที่สุดท่านนายกฯ ก็ใช้อำนาจเด็ดขาดเด้งปลัดสาธารณสุข ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจาก หมอรัชตะ รัชตะนาวิน โลกสวย มา 6 เดือน นี่ถ้ารออีก 6 เดือน หมอณรงค์ก็เกษียณพอดี

ท่านตัดสินใจถูกต้องแล้วครับ ถ้ำเดียวจะมีเสือสองตัว คนดีสองขั้ว อยู่ร่วมกันไม่ได้ ต่อให้เป่านกหวีดทั้งสองฝ่าย คนดีต้องมีหนึ่งเดียวเท่านั้น จะดีทั้งคู่แล้วทะเลาะกันได้ไง หนังไทยต้องมีพระเอกผู้ร้าย ผู้ร้ายตายตอนจบ ยังไงพระเอกก็ต้องเป็นหมอชนบท "เขาชื่อกานต์" ผู้เสียสละไปทำงาน ถิ่นทุรกันดาร (เช่น อ.ชุมแพ) โดยได้เบี้ยเหมาจ่ายเพิ่มจากเงินเดือนเพียงไม่กี่ (หมื่น) บาท

ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขต้องตัดสินแบบนี้ พระเอก ผู้ร้าย ต้องแยกกันให้ชัด พระเอกก็คือแพทย์ชนบท ผู้สืบสานอุดมการณ์ 14 ตุลา อย่าง พี่หมอวิชัย โชควิวัฒน, หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ "บิดา 30 บาท" หมอชูชัย ศุภวงศ์, หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, หมออำพล จินดาวัฒนะ, หมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ซึ่งรวมตัวเป็น "กลุ่มสามพราน" มี อ.ประเวศ วะสี ขับเคลื่อนผลักดัน สร้างอำนาจต่อรองรัฐบาลทุกยุคสมัย โดยไม่แยแสว่าประชาธิปไตยหรือรัฐประหาร จนได้องค์กรและงบประมาณของตัวเองที่เรียกว่า 5 ส. โดยเฉพาะ สสส.มีภาษีบาปให้ใช้ปีละ 4 พันล้าน

อ๊ะอ๊ะ ใครอย่าบังอาจกล่าวหาเชียวนะ ว่าการใช้จ่ายเงินภาษีองค์กรตระกูล ส.ไม่โปร่งใส เพราะไม่เคยมีนักการเมืองชั่วยุ่มย่าม ผู้บริหารมีแต่คนดีในเครือข่าย อ.ประเวศเวียนเทียน กัน ยกตัวอย่าง สวรส.รัฐบาลที่แล้วเสือกแทรกแซง สุดท้าย ผอ.ก็โดนปลด ผลการสรรหาหมาดๆ ที่หมอสุวิทย์เป็นประธาน ได้รองเลขาฯ สปสช.ทั้งคู่ (แข่งขันดุเดือดน่าดู)

ผลงานโบแดงของกลุ่มสามพรานคือ "30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งพรรคไทยรักไทยยุค ทักษิณ ชินวัตร นำไปผลักดันเป็นนโยบายที่มีนัยสำคัญ 2 ด้าน คือ หนึ่ง เปลี่ยนชาวบ้านตาดำๆ จากคนไข้อนาถาแล้วแต่คุณหมอพ่อพระแม่พระจะเมตตา มาเป็นผู้ถือบัตรทอง เจ้าของสิทธิ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ข้าราชการสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องรับใช้

สอง ปฏิรูประบบสาธารณสุข เหมาจ่ายงบประมาณตามรายหัวประชากร ไม่ใช่จ่ายตามขนาดโรงพยาบาลเล็กใหญ่ โดยตั้ง สปสช.เป็นผู้ซื้อบริการให้ประชาชน ร.พ.ต่างๆ เป็นผู้ให้บริการ

ความขัดแย้งในกระทรวงที่คุกรุ่นมาตลอดก็ถึงจุดเดือด ผู้บริหารกระทรวงเสียอำนาจจัดสรรงบประมาณ ร.พ.ชุมชนเบิกบาน ร.พ.ใหญ่บุคลากรเยอะต้องรัดเข็มขัด มีการต่อสู้ต่อรองจนแยกเงินเดือนออกจากงบฯ เหมาจ่าย ซึ่งก็กลับไปทำให้ ร.พ.ชุมชนถูกตัดงบฯ เกิดปัญหา ร.พ.ขาดทุน ที่นู่นบ้างที่นี่บ้าง

 ท่ามกลางการต่อสู้ก็เกิดแยกขั้วพระเอก ผู้ร้าย ซึ่งฝ่ายหลังไม่ใช่ใคร ได้แก่พวกหมอกระทรวง หมอ ร.พ.ใหญ่ ซึ่งถูกชี้หน้าว่าหวงอำนาจ อยากสบาย อยากอยู่ในเมืองแล้วทำคลินิก ชอบจ่ายยาแพงตามที่ดีเทลยาสาวๆ แนะนำ พอต้องรัดเข็มขัดบ้างก็โวยวาย ฯลฯ

พูดอีกก็ถูกอีกนะครับ เพราะนโยบาย 30 บาทมีคุณูปการ รัฐประหารกี่ครั้งก็ล้มไม่ได้ พระเอกเลยได้ใจ รัฐประหาร 49 แพทย์ชนบทก็ใหญ่ พี่หมอวิชัยได้เป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัช สร้างโรงงานวัคซีนพันกว่าล้านป่านนี้ยังไม่เสร็จ

ย้อนไปสมัยรัฐบาลพลังประชาชน เฉลิมเป็นรัฐมนตรี แพทย์ชนบทไปขอเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เฉลิมก็ให้ในอัตราตั้งแต่ 2-7 หมื่น พวกผู้ร้ายก็เป็นเดือดเป็นแค้นกันใหญ่ ทั้งที่แพทย์ ร.พ.ชุมชนตกระกำลำบาก ต้องขี่ม้าขี่เกวียนหรือนั่งเรือไป... อ้าว ไม่ใช่ นั่นมันสมัยสรพงศ์ ชาตรี 40 ปีที่แล้ว

มีแต่รัฐบาลเพื่อไทย ทายาทไทยรักไทย เข้าข้างผู้ร้ายเล่นงานพระเอก หมอประดิษฐ สินธวณรงค์ ตั้งหมอณรงค์เป็นปลัดงัด P4P มาแทนเบี้ยเหมาจ่าย จะให้ตั้ง "เขตสุขภาพ" รวมงบฯ แต่ละเขตไว้ในมือผู้ตรวจ อ้างว่าช่วยเหลือกันยามขาดทุน หมอชนบทฮือประท้วงใหญ่

ยังไม่ทันเห็นดำเห็นแดงก็เกิดนิรโทษสุดซอย ชมรมแพทย์ชนบทขับรถพยาบาลฉุกเฉินราคา 10 ล้าน เข้าม็อบเคียงข้างลุงกำนันตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไหนได้ ปลัดก็เล่นบทพระเอกเป็นเหมือนกัน นำประชาคมสาธารณสุขไล่รัฐบาลจนได้นกหวีดทองคำ หลังรัฐประหารหวิดได้เป็นรัฐมนตรีด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นสัจธรรม "คนดีมีแต่หมอชนบท"

นับแต่นี้ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขน่าจะยุติ เพราะคนดีเหลือฝ่ายเดียว เด็ดขาด ชัดเจน คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ มีเบี้ยเหมาจ่าย มีตำแหน่งในตระกูล ส. ได้เป็นกรรมาธิการ ได้เป็นรัฐมนตรี จองเก้าอี้สมัชชาคุณธรรมไว้ให้เลย

ที่มา : นสพ.ข่าวสด วันที่ 13 มีนาคม 2558