ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : 24 ชั่วโมง หลังคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้น แม้จะมีแรงกระเพื่อมจากข้าราชการที่แต่งชุดดำและการประท้วงย่อมๆ ที่ สธ.บ้าง แต่ก็ไม่มากอย่างที่กองเชียร์คุยไว้

ความเคลื่อนไหวต้านมีกำลังสำคัญจาก "ประชาคมสาธารณสุข" ซึ่งปลัดร่วมตั้งไข่ด้วยกันในสมัยเป่านกหวีด แยกทางจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สธ. และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งขณะนี้มีแกนนำคนสำคัญ คือ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับองค์กรตระกูล ส. มาช้านานแล้ว

ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น คาดกันไว้แล้วว่าพื้นที่ที่น่าจะกระเพื่อมมากที่สุด น่าจะเป็นพื้นที่ "ภาคใต้ตอนล่าง" ที่ปลัดณรงค์เคยลงไปเป็นผู้ตรวจราชการอยู่นานหลายปี และเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน จนทำให้ข้าราชการในพื้นที่แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับคุณหมอณรงค์

ทว่าต่อให้กระเพื่อมมากเท่าไหร่ ก็ประเมินกันว่า "ม็อบหมอ" น่าจะไม่คึกคักเท่ากับสมัยที่หมอแห่แต่งดำขึ้นป้ายต่อต้านนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งก็ตลกดี เพราะม็อบหมอเมื่อ 2 ปีก่อนนั้นขึ้นป้าย "ไม่เอาปลัดณรงค์"

หากอธิบายความขัดแย้งครั้งนี้ในเชิงโครงสร้าง พบว่า "หมอณรงค์" คือตัวละครเล็กๆ ใน 3 ประเด็นขัดแย้งใหญ่ ที่ไม่ว่าหมอณรงค์จะยังเป็นปลัดหรือไม่ ความขัดแย้งทั้งหมดนี้ก็ยังคงดำรงอยู่

เรื่องที่ 1 ความขัดแย้งระหว่างหมอเมือง-หมอชนบท เกิดขึ้นอย่างน้อยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ "สมองไหล" จำนวนมาก จากการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเสริมความงาม ที่ให้ค่าตอบแทนแพทย์สูงกว่าโรงพยาบาลอำเภอมหาศาล ประกอบกับเกิดกรณีแพทย์โรงพยาบาลอำเภอถูกตัดสินจำคุกจากกรณีผ่าตัดไส้ติ่งแล้วทำให้คนไข้เสียชีวิต สะท้อนชัดถึงความไม่แน่นอนของการเป็นหมอชนบท

หลังจากนั้นไม่นาน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัด สธ. ออกนโยบายเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้หมอชนบทมีรายได้สูงลิ่วเหนือหมอเมืองและเหนือวิชาชีพ อื่นๆ จนทำให้หมอเมืองไม่พอใจ หมอประดิษฐกับหมอณรงค์เลือกเข็นค่าตอบแทนแบบ "จ่ายตามการทำงาน" ออกมา

แต่ก็ถูกพื้นที่แห่ประท้วง เผาหุ่น-ฉีกรูป จนในที่สุดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องถอย และความเหลื่อมล้ำระหว่างหมอชนบทในโรงพยาบาลอำเภอและหมอเมืองในโรงพยาบาลใหญ่ก็ยังคงอยู่ต่อไป

เรื่องที่ 2 ก็คือความขัดแย้งระหว่าง สปสช.และกระทรวงหมอ ที่คุกรุ่นมาตลอดระยะเวลา 10 ปี เนื่องจากอำนาจจัดการงบประมาณด้านสุขภาพ การจัดซื้อ รวมถึงการกำหนดนโยบายถูกเปลี่ยนมือจากกระทรวงไปยัง สปสช. ที่ซึ่งก๊วนหมอชนบทดูแลอยู่

อย่างน้อยๆ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหญ่ สายตรงจากปลัด สธ.ทุกยุคทุกสมัย ถูกลดอำนาจการจัดการลง เพราะเงินไปอยู่กับ สปสช.แทน ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการรักษาต้องทำตามไกด์ไลน์จาก สปสช. เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ประกอบกับเคสผู้ป่วยหนักก็ถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลใหญ่จำนวนมาก จนภาระงานตึงมือขึ้นเรื่อยๆ

ความพยายามปฏิรูปโดยการปลดแอกสถานะการเงินการคลังจาก สปสช.  ทำให้ปลัดณรงค์ได้ใจคนโรงพยาบาลใหญ่ที่ไม่พอใจ สปสช.เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ส่วนความขัดแย้งสุดท้าย คือขั้วอำนาจการบริหารกระทรวงหมอเอง ซึ่งความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

ขั้วหนึ่งคือ กลุ่ม "แพทย์ชนบท" และแพทย์ตระกูล ส. ที่มีหัวเรือใหญ่คือลูกศิษย์หมอประเวศ วะสี ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และมีแนวร่วมสำคัญอย่าง นพ.มงคล ณ สงขลา ที่ขึ้นเป็นถึงรัฐมนตรีในรัฐบาลรัฐประหารชุดที่แล้ว ส่วน นพ.สมศักดิ์ ได้เป็น รมช.สธ. ในรัฐบาลรัฐประหารชุดนี้ ขณะที่ นพ.อำพล ได้เป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นพ.สุวิทย์ คือเบื้องหลัง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.

แม้คนกลุ่มนี้จะขัดแย้งกับนักการเมืองทุกขั้ว แต่ในช่วงเวลารัฐประหารเครือข่ายแพทย์ชนบทก็ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีทุกครั้ง และยังแตกระแหงออกไปอยู่ในองค์กรอิสระในกำกับ รมว.สธ. มีทั้งเงินและอำนาจ ซึ่งตรงกันข้ามกับ "อีกขั้ว" ที่อำนาจ มีแต่จะถูกกระจายออกไป

อีกขั้วที่ว่าคือ กลุ่ม "ข้าราชการประจำ" ซึ่งแม้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาตลอด แต่ฐานคิดที่ต้องการดึงเงิน สปสช. และ ดึงอำนาจจากตระกูล ส. กลับมายังฝังอยู่เข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงที่ผ่านมาไม่ได้เข้มแข็งในแนวคิดนี้เท่าไร และภาพที่ออกมาส่วนใหญ่คือการติดตามรัฐมนตรี หรือฝ่ายการเมืองเสียมากกว่า การปรากฏตัวของ นพ.ณรงค์ ที่เป็นผู้นำการต่อสู้ภายใต้หลักคิดนี้ จึงรวมหมู่ข้าราชการได้เกรียวกราว

ฟังเสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.ณรงค์ แล้ว ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" น่าจะเป็นการไปอย่างถาวรและน่าจะมีการแต่งตั้ง "ปลัดกระทรวง" คนใหม่ ในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า "ปลัดคนใหม่" น่าจะเป็นคนที่มีแนวคิดตรงแพทย์ชนบทมากกว่าจะเป็นคนแข็งกร้าว เชื่อมั่นในแนวคิดตัวเองอย่าง นพ.ณรงค์

แต่ไม่ว่าปลัดคนใหม่จะเป็นใคร สิ่งที่ต้องเผชิญก็คือ 3 ปมเดิมๆ ที่ทำให้ระบบสุขภาพไทยถอยหน้าถอยหลังมานานกว่า 10 ปี

หากรัฐมนตรีและปลัดคนใหม่ไม่มีแนวทางสลายขั้ว แก้ปัญหาเดิมอย่างจริงจัง ก็น่ากลัวจะได้เห็น "ม็อบหมอ" ออกมาแต่งชุดดำประท้วงอีกครั้งไม่รู้เป็นรอบที่เท่าไร

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 มีนาคม 2558