ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สิรินธร พัฒนาระบบบริการประชาชนตามแนวชายแดนไทย-ลาว ที่อ.สิรินธร เพิ่มศักยภาพการรักษาโรค จัดระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร ยา เครื่องสำอางที่ตลาดช่องเม็ก ร่วมกับศุลกากร และควบคุมป้องกันโรคติดต่อ จัดทำป้ายคำแนะนำ 3 ภาษา คือ ไทย ลาว และอังกฤษ ขณะนี้เริ่มใช้กับซองบรรจุยาของโรงพยาบาลแล้ว ต่อวันมีชาวลาวเดินทางเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 5-10 ราย

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เมื่อ14มี.ค.โดยเปิดเผยว่า โรงพยาบาลสิรินธรเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง และอยู่ในเขตสุขภาพที่ 10 อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี 75 กิโลเมตร และห่างจากจุดผ่านแดนช่องเม็กสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 15 กิโลเมตร ทำให้เป็นเส้นทางในการค้าขายและท่องเที่ยว ดูแลประชากรประมาณ 55,000 คน มีผู้ป่วยลาวเข้ามารับบริการที่รพ.สิรินธรร้อยละ 7 ของผู้ป่วยทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่แผนกผู้ป่วยนอกเพิ่มจาก 2,132 ราย ในปี 2555 เป็น 2,563 ราย ในปี 2557 และมีผู้ป่วยลาวที่อาการป่วยรุนแรง ส่งตัวมานอนพักรักษาเพิ่มขึ้นจาก 281 รายเป็น 490 รายในช่วงเดียวกัน โรคที่ส่งต่อมารับการรักษามาก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุที่ศีรษะ ตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ด้วยเหตุนี้กระทวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลสิรินธร ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนชายแดนชั้นนำเพื่อรองรับสุขภาพอาเซียน โดยพัฒนาศักยภาพการบริการให้มีความหลากหลาย อาทิ เพิ่มศักยภาพการผ่าตัดเช่น ไส้เลื่อน เปิดคลินิกแพทย์เฉพาะทาง เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปรักษาที่ตัวเมืองอุบลราชธานี ขณะเดียวกันจัดตั้งศูนย์ส่งต่อระหว่างประเทศและประสานการทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลจำปาสักของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่อยู่ห่างกันประมาณ 30 กิโลเมตร ทำให้ผู้ป่วยทั้ง 2 ฝั่งได้รับการดูแลอย่างดี ทุกวันนี้มีชาวลาวเดินทางเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 5-10 ราย และในอนาคตมีแผนร่วมมือการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมกัน อยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียด

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รพ.สิรินธร ได้วางแผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ โดยจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ที่จำเป็น 3 จุดแก่ประชาชนที่มารับบริการ ได้แก่ ป้ายบอกทางไปโรงพยาบาล ป้ายแนะนำจุดบริการผู้ป่วย และป้ายชื่อโรงพยาบาล 3 ภาษา คือ ไทย ลาว และอังกฤษ ขณะนี้ได้เริ่มใช้ในซองยาของผู้ป่วยแล้ว ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีการกินยาได้ถูกต้องตามคำแนะนำของเภสัชกร รวมทั้งพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลด้านการสื่อสารให้พร้อมบริการผู้ป่วยในประชาคมอาเซียน ดำเนินการมาแล้ว 2 เดือนผลปรากฏว่าได้ผลดี เพิ่มความคล่องตัวการบริการผู้ป่วยต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้ได้จัดระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่ไม่ได้มาตรฐาน พบว่า มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 5-10 พบมากที่สุดคือ ขนมที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม ส่วนใหญ่ไม่มีฉลากอย. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายเช่น ศุลกากร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. และนักเรียนหรืออย.น้อยโรงเรียน ผู้ประกอบการร้านค้า เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เผยแพร่ความรู้ในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีมาตรฐานแก่ประชาชนไทย-ลาว พร้อมจัดทำระบบเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคติดต่อตามแนวชายแดนเช่น โรคคอตีบด้วย