ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยความแตกต่างของชาติพันธุ์ในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่มีความหลากหลายของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไทยใหญ่ จีนยูนาน อาข่า ลาหู่ และลีซอ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความหลากหลายด้านสิทธิของประชากรในพื้นที่ ทั้งกลุ่มประชากรที่เป็นคนไทย มีบัตรประชาชนรับรองสิทธิ กลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะสัญชาติ ซึ่งมีบัตรประจำตัวขึ้นด้วยเลข 5, 6, 7 และกลุ่มที่ไม่มีสถานะใดๆ ทางทะเบียนราษฎร์ ที่อาศัยอยู่ตามชายขอบ

นั่นหมายถึงสิทธิการเข้าถึง “การรักษาพยาบาล” ย่อมแตกต่างไปด้วย

ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา

ช่วงระยะเวลา 12 ปี ของการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลให้กับชาวบ้าน อ.แม่ฟ้าหลวง ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ได้ทำหน้าที่บริหารและจัดระบบบริการรักษาพยาบาล เพื่อให้ชาวบ้านที่นี่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง เน้นการให้บริการที่เท่าเทียมกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างด้านสิทธิที่เป็นปัญหาท้าทายในการจัดการก็ตาม ซึ่งในที่นี้หมายถึง “สิทธิด้านการรักษาพยาบาล”

การที่ รพ.แม่ฟ้าหลวงสามารถทำเช่นนี้ได้ ทพญ.ปาริชาติ กล่าวว่า เป็นเพราะสถานะการเงินของ รพ.ยังคงสภาพคล่องอยู่ ไม่เคยติดลบ โดย รพ.ได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลผู้มีสิทธิจำนวน 2.3 หมื่นคน และกองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะ ตามมติ ครม.ปี 53 ประมาณ 1.6 หมื่นคน แม้ว่าเมื่อรวมงบประมาณทั้ง 2 กองทุนจะไม่มาก แต่ขณะนี้ยังเพียงพอที่จะบริหารดูแลประชาชนในพื้นที่โดยไม่ติดลบได้ ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่มีสิทธิใดๆ โดยเน้นไปยังกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ โดยเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากร งบประมาณ และการประหยัด

ส่วนกลุ่มที่เป็นวัยแรงงานนั้น ในกรณีผู้ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล แม้ว่าจะมีการเรียกเก็บค่ารักษา แต่หากผู้ป่วยไม่มีเงินก็จะไม่บังคับ เพียงแต่ รพ.ต้องทำบัญชีให้ถูกต้องโดยจัดอยู่กลุ่มค้างชำระและรับการอนุเคราะห์การรักษา กระบวนการเรื่องสิทธิเหล่านี้จะดำเนินการภายหลังการรักษา โดย รพ.จะเน้นบริการผู้ป่วยก่อน ไม่ถามสิทธิ เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกและเปรียบเทียบกัน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่จ่ายค่ารักษาเอง หรือประมาณ 6 แสนบาทต่อปี เป็นจำนวนที่ รพ.พอรับได้ ประกอบกับชาวบ้านที่นี่ต่างยินดีร่วมจ่ายค่ารักษา 30 บาท เพื่อช่วยกันเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทำให้มีเงินที่มาอุดหนุน รพ.เพิ่มขึ้น

ด้วย รพ.แม่ฟ้าหลวงเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ในกรณีที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรงเกินศักยภาพการรักษา จะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.แม่จัน ที่มีศักยภาพบริการมากกว่า ทพญ.ปาริชาติ กล่าวว่า แต่ด้วยข้อจำกัดของคนที่นี่ ซึ่งไม่ได้รับการรับรองสิทธิใดๆ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะที่มีบัตรประจำตัว 5, 6, 7 ก็ตาม ตามกฎหมายความมั่นคงกำหนดให้เขาเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วยรุนแรง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องทำเรื่องเพื่อขออนุญาตหน่วยงานด้านความมั่นคงก่อน ทำให้กรณีเร่งด่วนฉุกเฉินจึงเป็นปัญหา บางครั้ง รพ.ต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องคอยประสานทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงอย่างใกล้ชิด    

“10 ปีที่แล้ว หรือเมื่อประมาณปี 2546  ต้องบอกว่าหลายพื้นที่ใน อ.แม่ฟ้าหลวงยังต้องเดินเท้าอยู่ การเดินทางเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษาในขณะนั้น แต่หลังๆ การคมนาคมดีขึ้น ตอนนี้ตามถนนถ้าไม่ราดยางมะตอยก็จะมีตัวหนอน 2 ข้างถนนเพื่อให้รถสามารถขับแล่นไปได้ ไม่ต้องจมโคลนเหมือนแต่ก่อน แม้แต่ ต.หัวแม่คำซึ่งเป็นพื้นที่ไกลที่สุดและยื่นออกไปในประเทศพม่าก็มียางมะตอยราดผ่านแล้ว ใช้เวลาเดินทางมา รพ.เพียงแค่ 45 นาที ปัญหาคมนาคมจึงหมดไป เหลือเพียงความแตกต่างด้านสิทธิที่ยังคงเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงรักษา” ผอ.รพ.แม่ฟ้าหลวงกล่าว

ทพญ.ปาริชาติ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ รพ.แม่ฟ้าหลวง ได้พยายามบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึง และให้มีสิทธิรักษาพยาบาลที่ไม่ต่างกับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต้องยอมรับด้วยว่า การแบ่งแยกบริการรักษาพยาบาลนับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้แต่กับกลุ่มที่ไม่มีสิทธิใดๆ เลยก็ตาม นอกจากเป็นเรื่องด้านมนุษยธรรมแล้ว คนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่มานานจนเรียกว่าแทบจะเป็นคนไทย โดยมีความเกี่ยวพันทางชาติพันธุ์ เป็นเสมือนคนในชุมชนเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน จึงไม่ควรสร้างความแตกต่างโดยการแบ่งแยก

ทั้งนี้ตัวอย่างการบริหารการบริการสุขภาพเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ การออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน ซึ่ง รพ.แม่ฟ้าหลวงรับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่ 19 แห่ง มีเด็กนักเรียนทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ หรือแม้แต่กลุ่มที่ไม่มีสิทธิไม่มีสัญชาติใดๆ แต่การฉีดวัคซีนแบ่งแยกไม่ได้ ต้องฉีดให้กับเด็กทุกคนเหมือนกันหมด ดังนั้นในการเบิกจ่ายวัคซีนเพื่อออกหน่วยแต่ละครั้ง ทาง รพ.จะได้รับเกินมาอยู่แล้วเพื่อป้องกันปัญหาการสูญเสียระหว่างเดินทาง จึงกำชับเจ้าหน้าที่ระมัดระวังการสูญเสียให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีวัคซีนเหลือเพียงพอสำหรับเด็กที่ไม่มีสิทธิสถานะได้   

ทพญ.ปาริชาติ กล่าวว่า วันนี้หากพูดถึงกลุ่มคนพื้นถิ่นที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ในส่วนของพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวงนั้นมีไม่มาก น่าจะอยู่ที่หลักพันคนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่ตกสำรวจการขึ้นทะเบียนสิทธิกองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะในรอบแรก ซึ่งหากรัฐบาลอนุมัติเพิ่มเติมจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนอกจากช่วยเพิ่มงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยให้กับ รพ.แล้ว ยังทำให้คนเหล่านั้นมีสิทธิการรักษาพยาบาลที่ทัดเทียมกับคนอื่นๆ

นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว สถานการณ์ที่ รพ.แม่ฟ้าหลวง ต้องเผชิญไม่ต่างจาก รพ.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดน คือการไหลของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลที่อาจส่งผลต่อสถานะของ รพ.ในอนาคต โดย ทพญ.ปาริชาติ กล่าวว่า รู้สึกกังวลต่อปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เพราะในที่สุดอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณได้ แม้ว่าปัจจุบันทาง รพ.ได้เน้นการจัดการที่เน้นประหยัดทรัพยากรมากที่สุด ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ รพ. 5 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรวมการบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและช่วยลดรายจ่ายลงได้

อ.แม่ฟ้าหลวงวันนี้ แม้ว่าจะยังคงประสบปัญหาความซับซ้อนของชาติพันธุ์ที่ส่งผลต่อสิทธิความไม่เท่าเทียมกันด้านการรักษาพยาบาล แต่ด้วยเข้าใจในบริบทของพื้นที่ของ ทพญ.ปาริชาติ ที่พยายามจัดการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จึงถือเป็นความโชคดีของชาวบ้านที่นี่ เพราะอย่างน้อยก็เข้าถึงการรักษาได้ ถึงจะยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิสถานะใดๆ ก็ตาม