ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดจดหมายเปิดผนึกจากประชาคมสธ. ถึงนายกรัฐมนตรี วอนให้ความเป็นธรรมปลัดสธ. เร่งรัดการสอบสวนโดยเร็ว พร้อมขอให้แก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขอย่างจริงจังด้วยข้อมูลรอบด้าน แจงงานแรกทีมรมต.คือการโยกย้ายข้ามรุ่น ดันรองอธิบดีขึ้นเป็นรองปลัด แถมตั้งคณะทำงานและที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายแพทย์ชนบท ยกชื่อ นพ.มงคล, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล, นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา และ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา ระบุ 6 เดือนที่ทำงาน สั่งการผิดขั้นตอนราชการ

หลังจากที่ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล รักษาการประธานประชาคมสาธารณสุข(สธ.) ได้เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 มี.ค.เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. และเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาภายในกระทรวง สธ.อย่างจริงจัง ซึ่งเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวนั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ระบุว่า นพ.ณรงค์ไม่สนองนโยบายนั้นไม่น่าจะเป็นจริง โดยยกกรณีว่า ในช่วง 3 เดือนก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาล นพ.ณรงค์เดินหน้าการปฏิรูประบบสุขภาพผ่านกลไกเขตสุขภาพ ภายใต้การกำกับของหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. มาตลอด และเมื่อมีการตั้งรัฐบาล เขตสุขภาพก็เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล

แต่เมื่อมีการตั้ง ครม.แล้ว พบว่า ในการแต่งตั้งคณะทำงานและทีมที่ปรึกษากว่า 40 คนของ รมต.ทั้ง 2 คน แม้จะสร้างภาพว่ามีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเครือข่ายแพทย์ชนบท ทั้งที่เกษียณไปแล้วและยังไม่เกษียณ เช่น นพ.มงคล ณ สงขลา, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล, นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา, นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา เป็นต้น โดยระบุว่าเป็นที่ทราบกันดีว่า บุคคลเหล่านี้ไม่สนับสนุนแนวคิดเขตสุขภาพ ดังนั้นจึงไม่มีเรื่องเขตสุขภาพในนโยบายของ รมต.สธ. แต่เมื่อมีคำสั่งย้ายปลัดสธ. ก็ปรากฎนโยบายเขตสุขภาพ ทั้งที่ตลอดมาไม่เคยถูกพูดถึง 

และเมื่อมีการทำงาน งานแรกของ รมต.คือการดันรองอธิบดีที่เป็นพวกขึ้นเป็นรองปลัด แต่ได้รับการคัดค้านจากปลัดสธ.ที่สุดจึงได้ขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการแทน ขณะเดียวกันในการทำงานกว่า 6 เดือน การบริหารงานของ รมต. ที่ปรึกษา และคณะทำงาน ก็ล้วนสั่งการผิดขั้นตอน ข้ามหัวปลัดสธ.

ทั้งนี้เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกยังระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาระหว่างบุคคล แต่เป็นความแตกต่างในแนวคิดและหลักการ โดยเฉพาะการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีกทั้งในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบ สปสช.ที่มี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นประธาน นพ.ณรงค์ได้ทำหนังสือคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม

ประชาคมสาธารณสุขขอวิงวอนให้นายกฯ พิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับ นพ.ณรงค์ พร้อมทั้งขอเร่งรัดการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ทำงานโดยเร็ว และเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวง สธ.อย่างจริงจังด้วยข้อมูลรอบด้าน

ทั้งนี้เนื้อหาทั้งหมดในจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้         

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

25 มีนาคม 2558

เรื่อง ขอความเป็นธรรมให้ปลัดสธ.และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกระทรวงสธ.อย่างจริงจัง

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในช่วงวิกฤตของประเทศเมื่อปลายปี 2556-2557บุคลากรของกระทรวงสธ. ภายใต้การนำของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ได้ยืนหยัดทำหน้าที่ของข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน แสดงออกถึงความคิดเห็นต่อปัญหาของบ้านเมืองในประเด็นไม่ต้องการรัฐบาลที่โกงประชาชน และประเด็นต่อต้านการใช้ความรุนแรงในสังคม อันเป็นเจตนาที่ดีต้องการสร้างบรรทัดฐานของสังคมในการไม่ยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น และการแก้ไขปัญหา โดยใช้การข่มขู่ คุกคามต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง จนเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสังคมไทยในปลายเดือน พ.ค.2557 ประเทศก้าวสู่การปฏิรูปอย่างจริงจัง ซึ่งภายหลังจากที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงสธ.เดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูประบบบริการสุขภาพผ่านกลไกเขตสุขภาพ เสนอแนวคิดเพื่อปฏิรูปการเงินการคลัง และสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารราชการอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายของ ฯพณฯ มาโดยตลอด

ประชาคมสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรสาธารณสุข ทั้งที่ปฏิบัติงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มีความเห็นตรงกันว่า การมีคำสั่งให้ปลัดสธ.ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดภายในกระทรวงสธ.ได้แล้ว ยังเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของบุคลากรที่ตั้งใจปฏิบัติงานทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลดังนี้

1.การตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีปรากฎเป็นข่าวว่าการปฏิบัติราชการในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของ รมว.สธ. อันเป็นเหตุให้มีคำสั่งให้ ปลัดสธ.ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงนั้น บุคลากรสาธารณสุขทุกคนทราบดีว่า

1.1 ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะมีการจัดตั้งครม. สธ.เดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูประบบบริการสุขภาพผ่านกลไกเขตสุขภาพ เสนอแนวคิดเพื่อปฏิรูประบบการเงินการคลัง และสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารราชการอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การกำกับของหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อ 5.2 ที่ให้พัฒนาระบบบริการสุขภาพ สร้างกลไกจัดการระบบสุขภาพระดับเขต แทนการกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง กระจายบุคลากรและทรัพยากรสาธารณสุขให้เหมาะสมกับท้องถิ่น

1.2 หลังจากมีการจัดตั้งครม. รมต.และ รมช.สธ. ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะทำงานกว่า 40 คน ซึ่งแม้จะสร้างภาพมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายแพทย์ชนบท ทั้งที่เกษียณอายุราชการแล้วและยังอยู่ในราชการ เช่น นพ.มงคล ณ สงขลา, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล, นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา, นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีแนวคิดที่ไม่สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผ่านกลไกเขตสุขภาพ และการปฏิรูประบบบริหารการเงินการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยน การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ดังนั้นจึงไม่ปรากฎเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสร้างกลไกจัดการระบบสุขภาพในระดับเขต ในนโยบายของ รมต.สธ.

1.3 รมต.และที่ปรึกษา เริ่มงานแรกในหน้าที่ฝ่ายนโยบายด้วยการต้องการที่จะเอารองอธิบดีท่านหนึ่งที่เป็นพวก ขึ้นเป็นรองปลัดสธ.แบบผิดธรรมาภิบาลและระบบคุณธรรม แต่ได้รับการคัดค้านจากปลัดสธ.ซึ่งหลังผ่านการกดดันโดยรมต. รมช.และทีมที่ปรึกษาหลายท่าน แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดขอต่อรองให้ขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง นี่คือข้อเท็จจริงของจุดเริ่มต้นของคำว่าไม่สนองนโยบาย

1.4 ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเศษ การบริหารงานของรมต. ที่ปรึกษาและคณะทำงาน มีข้อสั่งการที่ผิดระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และหลักบริหารราชการโดยตลอด เช่น ออกหนังสือสั่งการ หนังสือเชิญ ปลัดสธ. รองปลัดสธ. โดยเลขานุการและที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังมีการเรียกประชุมข้ามปลัดสธ. ไปยังรองปลัดสธ. อธิบดี ผอ.สำนักต่างๆ รวมถึงผู้ปฏิบัติโดยตรง เป็นต้น ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ข้าราชการ

1.5 หลังจากมีคำสั่งให้ปลัดสธ.ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ รมต.ได้ประกาศนโยบายที่ต้องเร่งรัดเป็นพิเศษ 10 ข้อ กลับปรากฎว่าเป็นนโยบายที่กระทรวงฯ ภายใต้การนำของปลัดสธ.ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด เช่น เรื่องการขับเคลื่อนเขตสุขภาพ service plan และธรรมาภิบาลในกระทรวงฯ ทั้งนี้ตั้งแต่ รมต.และทีมที่ปรึกษาเข้าดำรงตำแหน่งไม่เคยกล่าวถึง และไม่ปรากฎในนโยบายที่เคยประกาศก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

2.ปัญหาที่เกิดขั้นในกระทรวงฯ ไม่ใช่เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล แต่เป็นความแตกต่างในแนวคิดและหลักการ การที่ปลัดสธ.ออกมาทำหน้าที่สูงสุดของข้าราชการประจำ เสนอแนวคิดที่จะปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ระบบการเงินการคลังและธรรมาภิบาลในการบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้นำไปสู่การตรวจสอบการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในขณะที่ รมต. รมช. และทีมที่ปรึกษากลับมีทิศทางปกป้อง สปสช.มาโดยตลอด แทนที่จะสนใจตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องเงินภาษีของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฐานะเจ้ากระทรวง กลับทำตนเป็นผู้รับรองการบริหารของ สปสช.เสียเอง ขอเรียนให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีทราบว่า ปัญหาที่ดำรงอยู่นี้กัดกร่อนระบบสุขภาพและหยั่งรากลึกจนยากจะแก้ไข ต่อเนื่องและยาวนานมาถึง 13 ปี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขทั้งประเทศตื่นรู้ และพร้อมที่จะเสนอแนวทางแก้ไข ปลัดสธ.เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ในฐานะผู้นำสูงสุดของข้าราชการประจำ กลับกลายเป็นว่า ปลัดสธ.เป็นผู้ไม่สนองนโยบาย

2.1 กรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเป็นประธาน ปลัดสธ.ได้ทำหนังสือคัดค้านการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธาน เนื่องจากมีความเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะเคยดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังและการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีผลมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้คัดค้านในเรื่องความสามารถ และเป็นการใช้สิทธิ์ตามระเบียบข้าราชการ ซึ่งสามารถคัดค้านได้ 1 ครั้ง

2.2 ทีมที่ปรึกษาของ รมต.และ รมช. มาจากกลุ่มเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงกับตระกูล ส มีแนวโน้มที่จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งมี สปสช.เป็นกองทุนใหญ่

2.3 การแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มงบประมาณ ตามที่ รมต.เสนอในการตอบกระทู้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 58 ซึ่งเป็นแนวทางที่สปสช.เสนอมาตลอด คงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอุดรูรั่วในความไม่โปร่งใสเสียก่อน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประชาคมสธ.จึงขอวิงวอนให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับปลัดสธ. เร่งรัดการพิจารณาของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฎผลโดยเร็ว และที่สำคัญแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวง สธ.อย่างจริงจัง ด้วยข้อมูลที่รอบด้านเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรสธ.ที่ตั้งใจปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

ประชาคมสธ.

โดยมีการระบุชื่อ กรรมการประชาคมสธ. พร้อมลายเซ็นกำกับ ดังนี้

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล รักษาการประธานประชาคมสธ.

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษาประชาคมสธ.

นพ.สุรพร ลอยหา ประธานชมรม นพ.สสจ.

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรม รพศ./รพท.

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.

ทพ.สมชาย กิจสนาโยธิน ประธานชมรมทันตแพย์ รพศ./รพท.

ภก.สมบัติ โรจนดำเกิงโชค ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข

นางประกายทิพย์ เหล่าประเสริฐ ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาล รพช.

นางสุจิตรา มานะกุล ประธานชมรมเทคนิคการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข

นายประเมศฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

นายธงชัย กีรติหัตถยากร