ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
นพ.ชัชวาล สมพีร์วงศ์ รองผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) และผอ.ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ร.พ.พระปกเกล้า กล่าวว่า โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทหรือซีเพิร์ด เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 เพื่อผลิตแพทย์ให้ ไปสู่ชนบท โดยคัดเลือกนักเรียนในชนบท ที่มีหรือเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเขต รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยตามโครงการ เข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ด้วยวิธีรับตรง โดยร่วมมือระหว่างสถาบันผลิตแพทย์และร.พ.ศูนย์ของสธ. ที่เป็นที่ตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ปัจจุบันมีศูนย์แพทยศาสตร์ฯ 37 ศูนย์
 
นพ.ชัชวาลกล่าวต่อว่า ทั้งประเทศมีแพทย์ในโครงการอยู่ใช้ทุนในพื้นที่จนครบ 3 ปีตามกำหนดร้อยละ 93 ส่วนที่ยังอยู่ในระบบราชการ เฉพาะที่ผลิตจากศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาฯ ของร.พ.พระปกเกล้ามีถึงร้อยละ 80 โดยมีตั้งแต่แพทย์รุ่นที่ 1 ซึ่งผลิตแพทย์ได้รวม 3 ชั้นปีประมาณ 1,100 คนต่อปี คาดว่าจำนวนแพทย์ที่ผลิตได้ จะช่วยลดการขาดแคลนแพทย์ได้ โดยในปี 2560 น่าจะมีสัดส่วนแพทย์อยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 ประชากร นับว่า เพียงพอ แต่ยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ขณะที่ทั่วโลกสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 1,500 ประชากร นอกจากนี้ นักเรียนนิยมสมัครเข้าศึกษาตามโครงการนี้มากกว่าการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ด้วยการแอดมิชชั่น คิดเป็นร้อยละ 90 ของอัตรารับ
 
"ปัจจุบันการรับนักเรียนแพทย์ตามโครง การจะเป็นการสอบรวม โดยคะแนนที่ปรากฏ ก็ไม่ต่างจากนักเรียนที่สอบแพทย์ได้ตามโครงการทั่วไป แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นเด็กจากพื้นที่นั้นๆ จริงหรือไม่ เพราะเคยพบว่า มีเด็กต้องการเข้าเรียน จนย้ายทะเบียนบ้านไปในพื้นที่เปิดรับ ซึ่งก็แก้ปัญหาด้วยการร่วมมือกับอปท. และร.ร.ในพื้นที่เข้ามาตรวจสอบทำให้แก้ปัญหาได้" นพ.ชัชวาลกล่าว
 
ที่มา : ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 เม.ย. 2558 (กรอบบ่าย)