ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสมศักดิ์” ชี้ แพทยสภาคุมเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่ม หลังใช้ตั้งแต่ปี 2547 แต่ยอมรับค่ายาใน รพ.เอกชนมีราคาแพง ซึ่งเป็นหน้าที่ ก.พาณิชย์ พร้อมระบุการควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชน ต้องสอดคล้องต้นทุน ตั้งแต่ค่าก่อสร้าง บุคลากร ค่าเวชภัณฑ์ เป็นต้น เหตุไม่มีงบรัฐหนุนเหมือน รพ.รัฐ ดังนั้นต้องควบคุมให้เหมาะสมตามต้นทุน หวั่นคุมเข้มทำ รพ.เอกชนเจ๊ง กระทบระบบรักษาพยาบาลประเทศ

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่มีการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อผลักดันให้มีการคุมราคาค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน ว่า การบริการรักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนเท่านั้น ซึ่งต้องเข้าใจว่าการดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน เป็นไปโดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนภาษีจากรัฐบาลมาสนับสนุนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลของรัฐบาล ทั้งหมดเป็นการลงทุนเอง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ค่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนเจ้าหน้าที่ประจำส่วนต่างๆ ซ้ำในการลงทุนยังต้องแบกรับภาระหนี้ ดังนั้นจึงมีต้นทุนที่มากที่ต้องรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาล โดยส่วนใหญ่จะบวกรวมในค่ายา ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์เป็นผู้เลือกว่าจะรับบริการหรือไม่ หรือจะรับบริการใน รพ.รัฐแทน

ทั้งนี้ในส่วนของแพทยสภามีหน้าที่เพียงแค่การคุมค่าตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันในกรณีที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท แต่ในกรณีที่เป็นการตรวจวินิจฉัยทั่วไปจะอยู่ที่ 300 บาท โดยเป็นหลักเกณฑ์ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2549 และอยู่ระหว่างการปรับปรุง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการรอการจัดทำรหัสหัตถการการรักษาต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะนำมาใช้ในการจัดทำราคาเพื่อเบิกจ่าย ซึ่งจะทำให้มีมาตรฐานการคำนวณค่ารักษามากขึ้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า แต่ในส่วนของการควบคุมราคายานั้น แพทยสภาไม่มีอำนาจ เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในการทำหน้าที่นี้ ซึ่งในกรณีนี้ยอมรับว่าควรทำให้มีมาตรฐานการคำนวณที่ต้องไม่ค้ากำไรจนเกินควร แต่ต้องบวกส่วนต้นทุนที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อให้ รพ.เอกชนดำเนินอยู่ได้ด้วย โดยในกรณีนี้ในอนาคตอาจแยกเป็นการคิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกจากค่ายาให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเห็นรายจ่ายที่ รพ.เอกชนเองต้องแบกรับ  

“ยอมรับว่าราคายาใน รพ.เอกชนมีราคาแพง เพราะต้องแฝงต้นทุนในการบริการต่างๆ ซึ่งสมมุติในกรณีของยาแอสไพริน แม้ว่าต้นทุนจะอยู่เม็ดละ 10 สตางค์ เมื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 10 เม็ด ก็ไม่สามารถคิดราคา 1 บาทได้ เพราะมีต้นทุนตั้งแต่ค่าซองยา ค่าเภสัชกร ที่ต้องคิดรวม แต่ในกรณีที่มีการคิดค่ายาถึงเม็ดละ 200-500 บาท ยอมรับว่าเป็นราคาที่เกินไป” นายกแพทยสภากล่าว และว่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีราคาค่ายาที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว โดยสามารถขอตรวจสอบได้ เพียงแต่ด้วยจำนวนรายการยาที่มีมาก อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการตรวจสอบ

ต่อข้อซักถามว่า จากรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติแถบตะวันออกกลางลดลง เป็นเพราะ รพ.เอกชนคิดราคาที่แพงเกินไปนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในประเด็นนี้ต้องเรียนข้อเท็จจริงว่า สาเหตุผู้ป่วยจากประเทศตะวันออกกลางลดลงอย่างดูไบนั้น แป็นเพราะประเทศเหล่านั้นมีการจัดตั้ง รพ.พยาบาลเอง ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง แต่ในส่วนของผู้ป่วยจากยุโรปยังคงเลือกมารักษายัง รพ.เอกชนในเมืองไทย เพราะเมื่อเปรียบเทียบราคาค่ารักษากับประเทศเหล่านั้น ค่ารักษาในเมืองไทยยังถูกกว่ามากโดยรวมราคาค่าท่องเที่ยวด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษายัง รพ.ที่ใกล้ที่สุด ซึ่งอาจเป็น รพ.เอกชน โดยประชาชชนเลือกไม่ได้ แต่กลับมีการคิดค่ารักษากับผู้ป่วยเพิ่มเติมทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายตามราคาต้นทุนของ รพ.เอกชนก็ไม่เป็นปัญหา แต่ที่ผ่านมาเป็นการจ่ายในราคาเดียวกับ รพ.ภาครัฐ ซึ่ง รพ.เอกชนคงรับไม่ได้ อีกทั้งเมื่อจะส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ตามสิทธิของผู้ป่วยก็มีปัญหาเตียงเต็ม ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยเพื่อให้ได้ราคาจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินที่เหมาะสม ไม่เป็นการบีบ รพ.เอกชนจนเกินไป  

“สปสช.คิดราคาจ่ายให้ รพ.เอกชนไม่ขาดทุน เพราะปัจจุบันค่ารักษาฉุกเฉินถูกคิดราคาจ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุน รพ.เอกชนอยู่มาก ขณะเดียวกันก็มาเรียกร้องให้ รพ.เอกชน CSR ทำกุศล โดยมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม ดังนั้นต้องถามว่าหากให้ รพ.เอกชนดำเนินการ รัฐบาลเองจะมีการยกเว้นภาษีได้บ้างหรือไม่” นายกแพทยสภา กล่าว  

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ต้องเป็นการควบคุมที่เหมาะสมตามต้นทุน เพราะไม่เช่นนั้น รพ.เอกชนก็จะอยู่ไม่ได้ เจ๊งต้องปิดกิจการหมด ซึ่งในที่สุดก็จะกระทบต่อระบบรักษาพยาบาลของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าจากการดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนระบบรักษาพยาบาลของประเทศ ช่วยลดความแออัด เป็นทางเลือกให้คนที่มีเงินและจ่ายได้ไม่ต้องแย่งบริการใน รพ.ภาครัฐ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้จัดเก็บภาษี ดังนั้นจึงควรมีการตกลงในราคากลางที่เหมาะสม ซึ่งต้องไม่ใช่เป็นอัตราเดียวกับ รพ.ของรัฐที่มีรัฐบาลสนับสนุน

ส่วนข้อเสนอที่ขอให้มีการกำหนดเงื่อนไขการขอใบอนุญาตสถานพยาบาลเอกชน ที่ต้องมีการกำหนดสัดส่วนการรับดูแลผู้ป่วยบัตรทองใน รพ.เอกชนนั้น นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินกิจการของ รพ.เอกชนถือเป็นเสรี เป็นการลงทุนเอง ดังนั้นจะบังคับหรือตั้งเงื่อนไขคงไม่ได้ และคงไม่ใช่ประชาธิปไตย