ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมใหญ่สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ 160 ประเทศทั่วโลก ร่วมประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินงานด้านการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ ไทยเน้นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีในปี 2555 พบอัตราคลอดบุตร 53.8 ต่อประชากรอายุ15-19ปี ทุก 1,000 คน ตั้งเป้าปี 2560 จะลดให้มีไม่เกินพันละ 50 คน โรงพยาบาลทุกแห่งของ สธ.มีคลินิกบริการที่เป็นมิตรวัยรุ่น

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2558) ที่โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (International Planned Parenthood Federation) จัดโดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฯ และตัวแทนองค์กรสมาชิกจาก 160 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เพื่อให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูล และผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practice) ของประเทศสมาชิก เกี่ยวกับวิธีการก้าวข้ามอุปสรรคการดำเนินงานด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ ได้แก่การวางแผนครอบครัว การบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี การส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิทางเพศ และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบาง เช่น เยาวชน สตรี ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ประสบภัยพิบัติหรือภัยสงคราม แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาอนามัยสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี ซึ่งมี 17 ล้านกว่าคน โดยทำงานใกล้ชิดสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จการวางแผนครอบครัว อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลง ประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2557 ไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นไปเกือบ 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด 64.8 ล้านคน ปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2555 ไทยมีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีคลอดบุตรจำนวน 129,451 คน คิดเป็นอัตรา 53.8 ของต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน จึงได้เร่งดำเนินงานแก้ไขปัญหา โดยการบูรณาการการทำงานร่วมทั้งภายในและนอกกระทรวงฯ เพื่อให้การดูแลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะลดอัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี ไม่เกิน 50 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีพันคน

ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เน้นหนัก 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ในสถานศึกษาเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ การสอนเพศศึกษาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มวัยรุ่นโดยตรงทั้งชายและหญิง ให้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง เข้าใจถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควร เพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ออกไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม และให้ความรู้การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงภายในโรงเรียนและนอกสถานศึกษา การพัฒนาแกนนำวัยรุ่น ให้วัยรุ่นมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย 2.ในสถานบริการสาธารณสุขมีการจัดตั้ง “คลินิกวัยรุ่น”ในโรงพยาบาล จัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรแก่วัยรุ่น และเยาวชนเข้าถึงบริการ ทั้งถุงยางอนามัยเพื่อลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด การให้บริการใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในแม่วัยรุ่น เน้นการให้คำปรึกษาแบบมีทางเลือก ปัจจุบันมีคลินิกที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 429 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 51 ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2560 จะดำเนินการให้ครบทุกแห่งทั่วประเทศ และ3.รณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและครอบครัว ตระหนักถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และสร้างกระแสสังคมในท้องถิ่นผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันปัญหาครอบครัวมีความรู้ และสามารถสื่อสารเรื่องเพศกับสมาชิกในครอบครัวได้

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ประชากรทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำและเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.….” ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. 2550 และได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งอาจช้าไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหา คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ จึงมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ให้นำเนื้อหารายละเอียดของร่าง พระราชบัญญัติฯฉบับนี้บรรจุในยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแบบบูรณาการ พ.ศ.2558 ที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะสามารถปฏิบัติเป็นไปตามแผนได้