ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ‘นพ.เจตน์’ ชี้การขอความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ควรมุ่งในเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตว่าไม่ควรเอาเรื่องค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง ส่วนโรคภัยที่รอได้ ให้ประชาชนไปรักษาตามสิทธิ์ ส่วนภาครัฐก็ต้องลงทุนพัฒนา รพ.รัฐให้เทียบเท่า รพ.เอกชนด้วย ไม่ใช้ให้งบประมาณไม่พอ คุณภาพก็ทำท่าลดลง แถมคิวแน่น รอนาน ส่งผลประชาชนมีทางเลือกก็ต้องไป รพ.เอกชน

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบการเรียกเก็บค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินไป ว่า โรงพยาบาลเอกชนมีตั้งแต่ขนาด 5 ดาว ลดหลั่นกันลงมาจนถึงระดับโพลีคลินิก โดยเจ้าของจะมีหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแพทย์ และเมื่อแพทย์เริ่มทำธุรกิจ ทุกอย่างก็ต้องเป็นธุรกิจ บางคนอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาคนไข้แล้ว

ทั้งนี้ในเรื่องของราคายานั้นเทียบรวมกับโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง และโรงพยาบาลของรัฐที่มีระดับตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน มาจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ค่ายาตั้งต้นจากบริษัทยาอาจจะมาเท่ากัน แต่โรงพยาบาลเอกชนต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น บางแห่งต้องกู้เงินมาซื้อ ประกอบกับต้องจ้างบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญในอัตราสูงมาให้บริการ ตรงนี้จึงถูกบวกเข้ามาเป็นต้นทุนด้วย ทำให้ราคาขายไม่เท่ากันในแต่ละโรงพยาบาล

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการทำงาน การขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนควรมุ่งในเรื่องของความเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตว่าไม่ควรเอาเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนโรคภัยต่างๆ อาการเจ็บป่วยที่สามารถรอได้ก็ขอให้ประชาชนไปรักษาตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องเพิ่มการลงทุนในโรงพยาบาลของรัฐให้มากกว่านี้ พัฒนาตัวเองให้มาเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน วันนี้งบที่ให้ก็น้อย ทำให้โรงพยาบาลต้องรัดเข็มขัด ส่งผลต่อบริการที่ดีตามมา

"หลังการเกิดขึ้นของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่รัฐให้บริการประชาชนฟรี คนก็แห่กันเข้าไปรักษา มีคนรู้แกวเลยมาลงทุนเปิดโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมา เพราะโรงพยาบาลของรัฐให้ฟรีคนก็แห่กันมาคับคั่ง จนแน่นขึ้นเรื่อยๆ แล้วรัฐก็ให้งบประมาณไม่พอ คุณภาพทำท่าลดลง คนก็หันไปใช้บริการเอกชน ดังนั้นรัฐต้องลงทุนในโรงพยาบาลของรัฐให้มากกว่านี้ ปรับปรุงทัศนียภาพของโรงพยาบาลให้รื่นรมย์เหมือนเอกชนด้วย"

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม 2558