ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ปรับเกณฑ์ลงทะเบียนบัตรทองสำหรับกลุ่มเฉพาะ ป้องกันไม่ให้เกิดสิทธิว่าง ระบุจะเลือกหน่วยบริการแทนกลุ่มทหารเกณฑ์ ทหารเรือ/ทหารอากาศ นักโทษที่พ้นโทษแล้ว และนักศึกษา กว่า 3 หมื่นคน ที่มีการเปลี่ยนสิทธิรักษา เพื่อให้ได้รับการรักษาตามสิทธิ และจะทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการต่อเนื่อง

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าประชาชนที่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิบ่อยมี 3 กลุ่ม คือ 1.นักศึกษา เนื่องจากมีการย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ใกล้สถานศึกษา 2.ทหารเกณฑ์ก็ย้ายเข้าไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงกลาโหม 3.นักโทษก็ไปอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ กลุ่มเหล่านี้เมื่อเรียนจบ ปลดประจำการ หรือพ้นโทษไปแล้ว จะมีจำนวนมากที่ไม่ไปแจ้งย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่มีการเลือก รพ. ที่จะทำการรักษา ทำให้เวลาเจ็บป่วยมีปัญหาเรื่องการใช้สิทธิ ซึ่งที่ผ่านมาทาง สปสช. จะให้การรักษาครั้งแรกตามปกติ โดยถือเป็นกรณีฉุกเฉิน

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้มีสิทธิฯ กลายเป็นสมาชิกตกค้างอยู่กับหน่วยบริการเดิมแม้เจ้าตัวจะย้ายกลับยังภูมิลำเนาแล้ว ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ถูกเรียกเก็บค่ารักษาเนื่องจากถูกอ้างว่าไม่เข้ารับบริการยังเครือข่ายหน่วยบริการประจำตามระบบ นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บไปยังกรมการแพทย์ทหารเรือ/ทหารอากาศ กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่สิทธิยังค้างอยู่ โดยกลุ่มคนเหล่านี้คาดว่ามีจำนวนถึง 31,272 ราย ไม่รวมกลุ่มนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า แต่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ประชุมจึงมีมติว่าในช่วงใกล้จบการศึกษา ปลดประจำการ และพ้นโทษ ให้ สปสช. ส่งหนังสือให้หน่วยงานในสังกัดของบุคคล 3 กลุ่ม เพื่อขอให้แจ้งบุคคลเหล่านั้นดำเนินการเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการก่อนส่งกลับมาที่ สปสช. เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้สิทธิในสถานพยาบาลที่เลือก และหากยังไม่มีการเลือกหน่วยบริการ บอร์ด สปสช.ได้มอบให้ สปสช.ทำหน้าที่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการให้ก่อน โดยเลือกใกล้ตามภูมิลำเนา และหากผู้มีสิทธิไม่พอใจหน่วยบริการประจำที่ สปสช.เลือกให้ สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้โดยไม่นับครั้งการเปลี่ยน ซึ่งกำหนดที่ 4 ครั้งต่อปี

“การปรับเปลี่ยนการลงทะเบียนหน่วยบริการนี้ จะส่งผลให้ประชาชนกว่าสามหมื่นคน ได้รับการดูแลสิทธิด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ไขปัญหาหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษาที่อ้างว่าไม่เข้ารับบริการหน่วยบริการประจำตามระบบ รวมทั้งยังช่วยลดภาระในการตามจ่ายของหน่วยบริการเดิม” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว