ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : “นพ.อภิวัฒน์” เผยคนมา รพ.แบ่งเป็น 3 ประเภท 1.เจ็บป่วยจริง 2.โรคที่ป้องกันหรือรักษาด้วยตนเองได้ 3.ไม่มีความจำเป็นต้องมา แต่มาเพราะสวัสดิการฟรี ระบุ ประเภทที่ 2 และ 3 เป็นปัญหามากในปัจจุบัน แต่สปสช.กลับถือเป็นผลงานทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา แจงขณะเดียวกัน สปสช.ยังมีวิธีจ่ายเงินซับซ้อน และขี้เหนียว ทำให้ รพ.ขาดทุน รักษามีค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่ไม่จ่ายให้ เช่น ไส้ติ่งแตก เข้าข่ายยิ่งรักษามากยิ่งขาดทุน

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาล (รพ.) รัฐประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ว่า ทุกวันนี้คนที่เข้ามารับบริการที่ รพ.แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1. เจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจริง 2.โรคที่สามารถป้องกันได้ หรือรักษาได้ด้วยตัวเอง 3. ไม่มีความจำเป็นต้องมา แต่ก็มาเพราะมีสวัสดิการฟรี ซึ่งประเภทที่ 2 และ 3 นั้นถือว่าเป็นปัญหามากในปัจจุบัน แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับมองว่า การเป็นผลงานที่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา แต่จริง ๆ หากเป็นระบบที่ดีควรมีเพียงกลุ่มแรกเท่านั้นที่เข้ามา รพ. ส่วนที่เหลือควรพัฒนาไปสู่การป้องกันโรค สร้างค่านิยมให้คนดูแลตัวเองมากขึ้น ดังนั้นวันนี้จึงเห็นว่า คนไข้ล้น รพ. แพทย์มีเวลาตรวจคนไข้น้อยลง

นพ.อภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันวิธีการบริหารการจ่ายเงินให้กับ รพ.รัฐของ สปสช. นั้นซับซ้อน และขี้เหนียวทำให้ รพ.แทบไม่มีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง การรักษาทำให้ รพ.ขาดทุน เนื่องจากคิดอัตราค่ารักษาพยาบาลตามค่ารักษาขั้นต่ำ ยกตัวอย่างการผ่าตัดไส้ติ่ง รพ.ก.ให้การรักษาในราคา 5,000 บาท รพ.ข. ให้การรักษาในราคา 6,000 บาท สปสช. ก็จะกำหนดการจ่ายเงินให้ในอัตราขั้นต่ำ 5,000 บาท ในกรณีไส้ติ่งแตก ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ สปสช. ก็ไม่ได้จ่ายให้ เพราะฉะนั้นยิ่งรักษามากยิ่งขาดทุน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ต้องทำรายงานส่งตัวเลขต่างๆ หากทำล่าช้าก็จะไม่ได้รับเงิน ส่วนตัวเห็นว่า สปสช. ควรบริหารเงินแบบง่ายๆ และตรงไปตรงมา

นพ.อภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนคิดว่า เป็นเพราะงบประมาณไม่พอ แต่จริงๆ แล้วงบมีพอ แต่ สปสช.มีการตั้งโครงการเฉพาะโรคขึ้นมาหลายอย่าง เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การล้างไตทางช่องท้อง ก็ถือเป็นโครงการที่ดีที่ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับการรักษาที่ดี แต่ส่วนตัวมองถึงเรื่องความเชี่ยวชาญ ซึ่งควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ แล้ว สปสช. เป็นผู้จ่ายเงิน เพราะสปสช.เองไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้  เช่น โครงการผ่าตัดต้อกระจกที่ สปสช.ตั้งงบประมาณและไปร่วมกับ รพ.เอกชน ในการผ่าตัดตาต้อกระจกให้กับผู้ป่วย ซึ่งตรงนี้ก็มีหลายคนมองเหมือนกันว่าอาจจะผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 หรือไม่ ประกอบกับการให้งบประมาณกับหน่วยงานที่ไม่ใช่สถานพยาบาล แต่ตนไม่ขอลงรายละเอียด เนื่องจากทางคณะกรรมการติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มีการทักท้วงมา.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)