ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.ยุติธรรม เผยกรณีคำสั่ง คสช.ย้าย เลขาธิการ สปสช.หากมั่นใจไม่ได้ทำอะไรผิด ให้ทำหนังสือชี้แจงมา ระบุการเสนอรายชื่อเป็นหน้าที่ 4 หน่วยงาน ป.ป.ช., สตง., ป.ป.ท. และ คตร.ทั้งติดตามเรื่องนี้มาหลายปี มั่นใจในข้อมูลที่นำเสนอ แต่ไม่เคยพูดว่าใครผิด อำนาจตัดสินผิดหรือถูกเป็นหน้าที่ของศาล ยันไม่ได้ก้าวก่ายการทำงานของ คกก.

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศอตช. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)

ซึ่งในส่วนของคำสั่ง คสช.ที่ 19/2558 ที่มีรายชื่อ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และให้ไปปฏิบัติราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับกรณีของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ได้มีการหารือกันในที่ประชุม โดยให้คณะกรรมการได้ชี้แจงกัน ซึ่งที่ผ่านมาในขั้นตอนการตรวจสอบนั้น ตนได้กำชับไปแล้วว่า ให้ดำเนินการอย่างเป็นธรรมและรอบคอบ พร้อมทั้งให้ระวังการคาบเกี่ยวระหว่างการตรวจสอบทุจริตกับปัญหาภายในของแต่ละกระทรวง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องแยกให้ดี เพราะอาจทำให้ไปรวมกับปัญหาภายใน อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่า ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการแต่อย่างใด

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังตน เพราะการเสนอรายชื่อเป็นหน้าที่ของ 4 หน่วยงาน ซึ่งเป็นเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหารราชการทั้ง ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. และ คตร. โดยติดตามเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และมั่นใจในข้อมูลที่ได้นำเสนอ อย่างไรก็ตาม ใครก็ตามที่มีรายชื่อทั้งที่ออกโดยคำสั่งของ คสช. และรายชื่อที่ให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการเองนั้น หากมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิด ก็สามารถขอความเป็นธรรมได้ เพราะตนไม่เคยพูดว่าใครผิด เพราะอำนาจการตัดสินผิดหรือถูกเป็นหน้าที่ของศาล ทั้งนี้ คนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งระดับผู้บังคับบัญชาหรือใครก็ตาม จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ