ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต. ย่อมาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เดิมคือสุขศาลา ต่อมาเป็นสถานีอนามัย ซึ่งให้บริการทางสาธารณสุขที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน ถึงปี 2553 ได้ยกระดับสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในปัจจุบัน

ความสำคัญและภารกิจ

รพ.สต.มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพไทย เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชุมชนที่ชาวบ้านรู้จัก และนิยมใช้บริการมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น รพ.สต.บางขุนกอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เป็นต้น

ภารกิจของ รพ.สต. ถ้าแบ่งง่ายๆ คือ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือระดับปฐมภูมิ (primary care) กับฟื้นฟูสมรรถภาพ จึงเป็นสถานพยาบาลที่ดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เกิด การดำรงชีพ จนตาย ได้แก่ การตรวจรักษาพยาบาลขั้นต้น การฝากครรภ์ การให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (การให้วัคซีนเด็ก) การดูแลโภชนาการ งานอนามัยโรงเรียน การคุ้มครองผู้บริโภค การคัดกรองภาวะผิดปกติต่างๆ การบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก การดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการอื่นๆ ให้กับชุมชน

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งฝึกงานที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาล คณะพยาบาลของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ตลอดถึงนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ปัญหาและการพัฒนา

เนื่องจาก รพ.สต.เป็นสถานพยาบาลขนาดเล็ก บางแห่งอาจมีเจ้าหน้าที่ 1-3 คน โดยต้องให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันโรงพยาบาลระดับอำเภอจะครอบคลุมทุกอำเภอ แต่ประชาชนในชนบทและรอบปริมณฑลกรุงเทพมหานครก็ยังใช้บริการที่ รพ.สต.จนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และมักเรียกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานว่า "หมออนามัย" ทั้งที่ไม่มีกฎหมายประกอบวิชาชีพมารองรับการทำงาน (ยกเว้นพยาบาลและแพทย์ที่มาตรวจรักษาเป็นบางวัน)

ความไม่ชัดเจนของระเบียบและกฎหมายนี้เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนา รพ.สต.ให้สามารถบริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ด้านบุคลากร มีจำนวนไม่สัมพันธ์กับผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) การกำหนดคุณสมบัติและขอบเขตการทำงานของบุคลากร เช่น นักสาธารณสุขจะปฏิบัติงานได้มากน้อยเพียงใด การสร้างเครือข่ายกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และโรงพยาบาลที่มีความพร้อมจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ จะทำอย่างไรให้เกิดการส่งต่อที่รวดเร็วและมีคุณภาพในการบำบัดรักษา

ปัญหาเหล่านี้มีมานาน แต่การแก้ไขยังล่าช้า เช่น พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขผ่านการพิจารณาเมื่อปี 2556 เพื่อยกระดับมาตรฐานของหมออนามัยให้มีสภาวิชาชีพกำกับดูแลด้านมาตรฐาน ก็ยังอยู่ในช่วงเตรียมการ เงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ยังได้รับน้อยเมื่อเทียบกับแพทย์และพยาบาล ทั้งที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อชีวิตและสุขภาพของชุมชนอย่างใกล้ชิด

การแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนา รพ.สต.ให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

1.กฎหมายที่รองรับการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการเมืองการปกครองไทยมีลักษณะเป็นนิติรัฐ กระบวนการบริหารและจัดการต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เช่นเดียวกับนักสาธารณสุข (หมออนามัย) ต้องเร่งผ่าน สภาวิชาชีพสาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติงาน และการยอมรับในระบบสุขภาพ

2.การกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการของนักสาธารณสุข ควรได้รับการปรับปรุงให้มากขึ้นอย่างเหมาะสมกับมาตรฐานวิชาชีพ และปริมาณงานที่ให้บริการกับชุมชน อย่างน้อยก็ต้องไม่แตกต่างกับแพทย์และพยาบาลมากนัก

3.ปรับปรุงสถานที่ให้บริการ อุปกรณ์ที่ทันสมัย และยา ให้สามารถจ่ายยาที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อชุมชนจะได้รับบริการสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษา

4.การพัฒนาเครือข่ายให้ รพ.สต.มีความเชื่อมโยงการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่ายชุมชน ตลอดถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลศูนย์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บริการผู้ป่วยได้รับการบำบัดเบื้องต้น

หากมีอาการรุนแรงจะได้รับการเยียวยาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไป ซึ่งช่วยให้ระบบสุขภาพไทยสามารถให้บริการตั้งแต่การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนถึงการส่งต่อได้อย่างมีคุณภาพกล่าวโดยสรุป

จากพัฒนาการของ รพ.สต.ที่กล่าวมา แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพไทยในลักษณะทางเลือกที่ช่วยสนับสนุนการให้บริการของโรงพยาบาลอำเภอ ต่อมามีการปรับปรุงการให้บริการ ทำให้ประชาชนในชุมชนเริ่มมาใช้บริการ รพ.สต.มากขึ้น เพราะมีความคุ้นเคยและใกล้ชิดมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา รพ.สต.ให้มีคุณภาพและมีความพร้อมด้านบุคลากร จะทำให้ รพ.สต.เป็นหลักของการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยของชุมชน ซึ่งช่วยลดภาระโรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลศูนย์ได้อย่างมาก

ที่สำคัญคือการบำบัดรักษาและการดูแลสุขภาพมิให้เกิดการเจ็บป่วย หรือรักษาพยาบาลเสียแต่แรก ย่อมเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผู้เขียน : ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 กรกฎาคม 2558

เรื่องที่เกี่ยวข้อง