ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“บพิธ” นักเทคนิคการแพทย์ รพ.สกลนคร เผย ร่าง พ.ร.บ.ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข จะอุดช่องว่างของห้องแล็บ ที่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึง ปัจจุบันยังอยู่ใต้บังคับกฎหมายหลายฉบับ แต่อาจมีผลกระทบต่อวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จึงควรต้องเขียนข้อยกเว้นให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องมาตีความกันในภายหลังอีก

นายบพิธ สรสิทธิ์ นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลสกลนคร จ.สกลนคร ในฐานะนักกฎหมาย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ...... ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ยกร่าง และกำลังขอรับฟังความเห็นจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในขณะนี้ว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจตนาดี ที่จะอุดช่องว่างของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึง แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาจมีผลกระทบต่อวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จึงควรต้องเขียนข้อยกเว้นให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องมาตีความกันในภายหลังอีก

นายบพิธ กล่าวต่อว่า ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แยกประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ กับที่ไม่ใช่ของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ หากระบุถ้อยคำในร่างมาตรา 3 (1) ลงไปให้ชัดเจนว่า “ไม่ใช้บังคับกับห้องห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 3 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547” ร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะมีผลทางปฏิบัติและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ก่อความขัดแย้งในอนาคต

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าที่มาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ริเริ่มสมัย นพ.สถาพร วงษ์เจริญ เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้แรงกดดันจาก พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ ซึ่งสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์จะให้ครอบคลุมงานทุกชนิดที่เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานและการทดสอบทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพราะห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ปัจจุบัน ไม่มีกฏหมายหลักของตนเอง แต่ไปอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. สถานพยาบาล, พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ และ พ.ร.บ. วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งแต่ละ พ.ร.บ. มีขอบเขตที่ไม่ครอบคลุมเรื่องมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ การสาธารณสุขระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางชีวภาพแต่อย่างใด

“พ.ร.บ. วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เหมาะสมกับห้องปฏิบัติการประจำโรงพยาบาล แต่ก็ไม่เหมาะกับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่เป็นหน่วยวิจัย มหาวิทยาลัย และอี่นๆ เพราะความรู้ที่ใช้หลากหลาย คนที่ทำหลายวุฒิการศึกษา จึงปรับใช้ได้แต่ไม่เป็นธรรม ขาดการบังคับในหลายเรื่องที่เป็นด้านความมั่นคงทางสุขภาพไม่มีประสิทธิผลกรณีการมาตรฐานภาคบังคับ ซึ่งต้องปกป้องประโยชน์ของผู้รับบริการโดยเฉพาะภาคเอกชน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกังวลใจของนักเทคนิคการแพทย์ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ได้มีการนำเรียนต่อ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว พร้อมทั้งระบุว่าขั้นตอนของการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังอยู่อีกไกล การนำกลับมาขอรับฟังความเห็นอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักไปนาน ก็เหมือนเป็นการวนกลับมานับหนึ่งใหม่ จากนี้ไปยังต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกมาก

ที่มา : Facebook/Medtechtoday แหล่งรวมข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และสาระความรู้ในแวดวงเทคนิคการแพทย์