ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” มอบ สปสช.หารือ สธ. ดึงงบบริหาร สปสช.เยียวยาบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสุขภาพชั่วคราว หวั่นเกิดผลกระทบเสียขวัญและกำลังใจ หลังถูกตีความไม่สามารถใช้เงินกองทุนบัตรทองมาจ่ายให้บุคลากรสาธารณสุขได้ ด้าน “หมออำนาจ” เสนอยกเลิกมาตรา 42 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ระบุไม่ควรไล่เบี้ยเอาผิดจากผู้ให้บริการ ทำให้ระบบเสียหาย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการหารือกรณีการตีความมาตรา 18 (4) ในการเยียวยาผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขนั้น ที่ถูกระบุว่าเป็นการใช้งบผิดวัตถุประสงค์ และผลจากการตีความของคณะกรรมการฯ ก็ระบุว่า ไม่ชัดเจนนว่า บอร์ด สปสช.สามารถทำเรื่องนี้ได้ แต่เห็นว่ามีประโยชน์ และเสนอให้แก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายใหม่คุ้มครองผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ในระหว่างนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบุคลากรสาธารณสุข ควรให้ สปสช.ขออนุมัติบอร์ด สปสช. ให้ใช้งบบริหารสำนักงาน สปสช.ดำเนินการเยียวยาไปก่อนชั่วคราว เรื่องนี้ถือเป็นการบริหารจัดการที่ไม่ผูกพันกฎหมาย โดยให้รักษาการเลขาธิการ สปสช. หารือร่วมกับรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดครั้งต่อไป

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะบอร์ด สปสช.กล่าวว่า สิ่งที่บอร์ด สปสช.ทำเป็นไปตามกฎหมายและทำตามเจตนารมณ์ซึ่งทุกคนต่างเห็นร่วมกัน โดยกรณีที่ผลสอบมีการระบุว่า สปสช.มีการใช้งบผิดวัตถุประสงค์นั้น โดยเฉพาะกรณีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้บริการ ตามมาตรา 18 (4) กรณีที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข เนื่องจากเรารับไม่ได้ กรณีรถพยาบาลประสบอุบัติมีผู้เสียชีวิต คนหนึ่งได้รับการชดเชย 4 แสนบาท แต่อีกคนหนึ่งทั้งที่เป็นผู้ให้บริการแต่กลับไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นบอร์ด สปสช.จึงใช้สติในการพิจารณา ซึ่งเราต้องยืนยันว่าบอร์ด สปสช.ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

“เราไม่ควรกลัว เพราะเราทำถูกอยู่แล้ว เราจะกลัวอะไร ต้องยืนยันว่าไม่ผิด และไม่ได้บิดเบือนกฎหมายเพราะมันมีเจตนารมณ์อยู่” น.ส.สารี กล่าว 

ด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ในประเด็นการตรวจสอบเรื่องอี่นขอผ่านไป แต่ในเรื่องการเยียวยาในฝั่งผู้ให้บริการกรณีเกิดความเสียหายจากการให้บริการในมาตรา 18 (4) นั้น บอร์ด สปสช.ต้องยืนยันไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตามว่าสามารถทำได้ เพราะบุคลากรในระบบสาธารณสุขได้ทำงานทุ่มเทอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการดูแลผู้ป่วยแล้วประสบอุบัติหตุ หรือการเจ็บป่วยโดยได้รับเชื้อจากผู้ป่วย ซึ่งเราต้องไม่ทำให้บุคลากรเหล่านี้เสียขวัญ เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้ สปสช.ไล่เบี้ยกับโรงพยาบาลและผู้ให้บริการตามมาตรา 42 ซึ่งการที่ผลสอบมีการชี้ประเด็นนี้ ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เสียขวัญอย่างมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำการไล่เบี้ยเพราะกลัวมาตรา 157 อีก เรียกว่าทำให้เสียขวัญกันทั้งระบบ

“เรื่องการใช้งบผิดวัตถุประสงค์ในการเยียวยาผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย เราต้องรีบหยุดยั้งเรื่องนี้ไว้ก่อนที่บุคลากรสาธารณสุขจะเสียขวัญไปมากกว่านี้ ขณะเดียวกันมาตรา 42 เราก็ควรที่จะยกเลิก ไม่ให้มีการไล่เบี้ยเอาผิด แพทย์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่” นพ.อำนาจ กล่าว

ขณะที่ รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่สอง ในฐานะบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ยอมรับว่าเห็นเรื่องนี้แล้วไม่สบายใจ สปสช.ต้องสนับสนุนและดูแลผู้ให้บริการด้วยในกรณีได้รับความเสียหาย และไม่เห็นด้วยกับการให้ สปสช.ไล่เบี้ยตามมาตรา 42 เนื่องจากผลกระทบที่จะตามมามีมาก ซึ่งต่อมาจะต้องมีการทำประกันความเสี่ยงและค่ารักษาพยาบาลก็จะพุ่งขึ้น และยังทำให้เกิดความทุกข์ เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการเลวร้ายลง จึงเป็นเรื่องที่ควรห่วงใย อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีการตีความคนละส่วน นั่นหมายถึงกฎหมายไม่ชัดเจน ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้มาแล้ว 14 ปี หากมีปัญหาความไม่ชัดเจนก็ควรมีการปรับแก้ไขเพื่อให้ดีขึ้น และยังเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการการเงินการคลัง และบอร์ด สปสช. กล่าวว่า มีบางเรื่องที่ สปสช.ทำเป็นสิ่งที่ดีจากที่เคยเป็นมาภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งก็ทำให้ดีขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณที่ช่วยประหยัดได้มากขึ้น และบางเรื่องที่บอร์ดทำก็เพื่อทำระบบให้ดี อย่างการเยียวยาผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากบริการ ซึ่งไม่เพียงแต่ สปสช.ที่นำไปใช้ แต่ระบบอื่นๆ ต้องนำไปใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่มาดูว่าเรื่องนี้มันถูกกฎหมาย หรือถูกตัวหนังสือหรือไม่เท่านั้น