ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออุดมศักด์” อ.แพทย์ ม.วลัยลักษณ์ หนุน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ชี้เป็นระบบบริหารมีประสิทธิภาพ ดูแลประชาชนภายใต้ข้อจำกัด แต่ปัญหาของไทยคือ ทรัพยากรสุขภาพของประเทศ ทั้งบุคลากร งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขมีจำกัด ระบุอนาคตต้องเพิ่มทั้งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณ ลดความขัดแย้งและหนุนเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมชี้อนาคตต้องร่วมจ่าย แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ ยันยันต้องไม่รวมกองทุน เพื่อแข่งขัน เปรียบสิทธิประโยชน์ สู่การพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ แถมเสนอทำวิจัย “คนไม่ป่วยแห่ใช้สิทธิบัตรทอง เพราะสิทธิฟรี” ยุติข้อถกเถียง 14 ปี    

นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว

นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Health focus ถึงการดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ว่า ส่วนตัวมองว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเป็นระบบที่ดีมาก ในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัด แต่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลลัพธ์ที่ดีจากระบบจัดการที่ดี เนื่องจากเมื่อดูอัตราแพทย์ต่อประชากร โดยประเทศไทยมีแพทย์ 4 คนต่อประชากรหมื่นคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีแพทย์ 3 คนต่อประชากรพันคน แต่เราสามารถจัดระบบสุขภาพ กระจายให้มีหมอประจำทุกอำเภอได้เกือบร้อยละ 99 นั่นหมายถึงว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ภายใน 1 ชั่วโมง ขณะที่หลายประเทศอย่างประเทศจีนก็ยังไม่สามารถได้

ขณะที่งบประมาณในระบบสุขภาพในภาพรวม ไม่แต่เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศอังกฤษ และออสเตรเลีย ใช้งบประมาณในระบบสุขภาพอยู่ที่ร้อยละ 9-10 ของจีดีพี ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยคล้ายกับอังกฤษ แต่ด้วยงบที่ใช้จ่ายเพียงเท่านี้ โดยเฉพาะภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถจัดระบบให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการรักษาได้ ดังนั้นจึงถือว่าประเทศไทยเก่งมากแล้ว

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า แต่ด้วยบุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณที่จำกัด แน่นอนย่อมส่งผลให้มีความขัดแย้งขึ้น เพราะการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นขณะที่บุคลากรน้อย จำกัด ย่อมทำให้เกิดภาระงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มบุคลากรและค่าตอบแทน ส่งผลต่อปัญหา รพ.ขาดทุน ประกอบกับที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยระบบหลักประกันสุขภาพต่างเห็นปัญหาภาระงบประมาณนี้ ทั้งมองว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศที่อยู่ประมาณร้อยละ 3-4 ยังสามารถขยับเพิ่มได้อีก จึงพยายามให้มีการปรับเพิ่มงบประมาณเพิ่มเติม เหล่านี้เชื่อมโยงถึงปัญหาโรงพยาบาลขาดุทน เป็นปัญหาเชิงระบบ

“เท่าติดตามผู้บริหาร สปสช.เคยอยู่ใน สธ. แต่เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าและต้องการจัดระบบสาธารณสุขของประเทศ จึงแยกหน่วยงานและสร้างกฎเกณฑ์บริหารต่างๆ ในงานบริการที่นำไปสู่วาทะกรรมทำงานแลกเงิน ทั้งนี้มองว่า สปสช.ไม่ได้แย่ เพียงแต่ต้องการจัดการระบบ ส่งผลให้ถูกมองล้วงลูก ทำให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่มีเอกราช แต่ปัญหาหลักที่สำคัญคือภาพรวมทรัพยากรระบบสุขภาพประเทศมีจำกัด ทั้งบุคลากร งบประมาณ และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งการบริหารจัดการระบบได้ขนาดนี้ถือว่าดีแล้ว” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวและว่า ในอนาคตแพทย์และบุคลากรในระบบต้องเพิ่มขึ้น รวมถึงงบประมาณ ค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศ หากเป็นไปได้น่าจะขยับเพิ่มที่ร้อยละ 7 ของจีดีพี เพื่อสนับสนุนในส่วนของค่าตอบแทนบุคลากร และอนาคตคงต้องมีระบบร่วมจ่ายเพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา

ต่อข้อซักถามว่า ควรมีการรวม 3 กองทุนรักษาพยาบาลหรือไม่ เพื่อให้มีระบบเดียว นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุนให้เหลือระบบเดียว เพราะการที่แยกบริหาร 2-3 กองทุนอย่างที่เป็นอยู่ มีข้อดีคือทำให้เกิดการเปรียบเทียบ พัฒนาสิทธิประโยชน์ตนเอง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพราะหากมีเพียงระบบเดียวก็จะไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการพัฒนา และเราก็ไม่รู้ว่าสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลที่มีอยู่นั้นดีหรือด้อย และควรปรับปรุงอย่างไร แต่หากเป็นการรวมเฉพาะบริหารจัดการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงในเรื่องของจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้นหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีผู้ระบุว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ารับบริการโดยไม่มีความจำเป็น เพราะสิทธิรักษาฟรีนั้น นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาจริยธรรม หากถามว่ามีผู้มาใช้บริการโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ตนเชื่อว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่สัดส่วนจะมีเท่าไหร่ และมีการแบ่งใช้ทรัพยากรไปมากน้อยแค่ไหน หากเพียงแค่ร้อยละ 2-3 ของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในระบบ มองว่าก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มากเท่าไหร่และไม่น่าที่จะส่งผลกระทบ เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินที่ช่วยให้ผู้ที่เข้าไปถึงการรักษาได้รับบริการมากกว่า และเรื่องนี้มองว่าควรมีการทำวิจัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อตอบโจทย์หลังจากที่มีการตั้งสมมติฐานกันมานานตลอด 14 ปี หลังตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า