ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตือนภัย 10 เรื่องสุขภาพน่าห่วง ‘มนุษย์ติดจอ’ หมอชี้ สะสมสารพัดโรค ตั้งแต่ กระดูกคอเสื่อม นอนไม่หลับ ท้องผูก ปวดศีรษะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดทั่วตัว ตาลาย จนถึงตายไม่รู้ตัว

นพ.กฤษดา ศิรามพุช

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบัน มือถือ สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมาก เรามักเห็นภาพชินตาจากการจดจ่ออยู่หน้าจอที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง จริงอยู่ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวก ตอบสนองทุกความต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็มีด้านที่ต้องระวังเกี่ยวกับอุปกรณ์ก้มกดนี้ โดยเฉพาะแสงจากหน้าจอ ที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีผลการศึกษาพบว่า มีผลกระทบต่อสมองและสุขภาพของมนุษย์ ระบบเสียงก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราลืมสนใจเรื่องรอบตัว และสิ่งที่ควรระวังอีกเรื่องคือ ความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจจากการจดจ่ออยู่แต่หน้าจอโดยที่เราไม่รู้ตัว

“3 กลุ่มเสี่ยงที่พึงระวัง คือ มนุษย์ออฟฟิศ ที่ต้องทำงานหน้าจอ มนุษย์ก้มกด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และมนุษย์ทั่วไป ที่ใช้หน้าจอในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม” นพ.กฤษดา กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า เพื่อให้ทุกท่านที่กำลังอยู่ในภาวะขาดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกชนิดนี้ไม่ได้ ขอยก 10 ปัญหาพาป่วยของมนุษย์หน้าจอ เพื่อทราบถึงอันตรายที่จะมาถึงตัว ดังนี้ 

1.โรคก้มกด นำไปสู่อาการปวดคอเรื้อรัง มีอาการปวดบ่าไหล่ไปถึงหลังได้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์กระดูกคอที่นิวยอร์กชี้ว่าโรคก้มกด (Text neck) นี้กำลังระบาด เป็นอาการของคนยุคใหม่ ในการก้มคอไปข้างหน้าแต่ละนิ้วแต่ละเซ็นติเมตรมีผลทั้งสิ้น ให้คิดง่ายๆ ว่ายิ่งก้มกดนานก็ยิ่งทำร้ายกระดูกและกล้ามเนื้อที่ละเอียดอ่อนรอบคอ 

2.กระดูกคอเสื่อม การศึกษาชี้ว่าการก้มดูหน้าจอ นานและบ่อย มีผลให้น้ำหนักกดกระดูกต้นคอทั้ง 7 ชิ้นจนเกิดภาวะเสื่อมก่อนวัยได้ แต่หากไม่นานมาก็ไม่ส่งผล แต่ถ้านานประมาณดูซีรีส์เกาหลีจบก็น่าห่วง เพราะชีวิตที่ต้องก้มกดนานทำให้คอต้องรับน้ำหนักพอๆ กับมีเด็ก 8 ขวบ (30 กิโลกรัม) มาขี่คอตลอดเวลา

3.โรคเพลียตา อาการตาล้า รวมถึงตาแห้งอาจเกิดได้ มีสัญญานคือ ล้า ปวดรอบกระบอกตา เพลียตาคล้ายตาจะปิด มีอาการนานเข้าทำให้ปวดศีรษะได้ด้วย ขอให้ช่วยพักตาเป็นระยะ ด้วยการเบรกการใช้หน้าจอบ้าง รวมถึงการติดแผ่นกันแสงสะท้อน (Anti-glare) ถือเป็นการช่วยล้างพิษดิจิตอล (Digital Detox) ไปในตัว 

4.นอนไม่หลับ จากแสงหน้าจอ โดยเฉพาะในแสงแถบสีฟ้าที่ท่านอาจมองไม่เห็น แต่มันเป็นแถบสีหนึ่งที่รวมอยู่ในแสงสว่างจากจอที่พุ่งเข้ากระทบตาท่านผ่านไปถึงสมอง จึงไม่ควรใช้บ่อยผิดเวลาเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่ควรนอนหลับพักผ่อน มีการศึกษาเรื่องนี้ในระดับลึกจนพบว่าแสงสว่างมีผลกดการสร้างเคมีนิทราในสมองมีผลทำให้สุขภาพแย่ลง

5.ท้องผูก เป็นผลทางอ้อมจากความเครียด นั่งนาน ยืนนานจากการจดจ่ออยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน ภาวะนี้อาจเกิดได้กับมนุษย์หน้าจอที่ไม่ลุกขยับกายส่วนใดเลยนอกจากมือบนหน้าจอ ทำให้ลำไส้ไม่ขยับจนมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายจนทำให้ท้องผูกได้ ในหลายคนเมื่อถ่ายลำบากบ่อยเข้าก็เรียกริดสีดวงมาเสริมด้วย 

6.ปวดศีรษะ เกิดได้จากผลกระทบหลายจุดของหน้าจอ เช่น จากแสง การเพ่งนาน และความเครียดจากการเล่นเกมส์ แชทโต้ตอบหรืออ่านเฟสอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังอย่าง Journal of Vision มีการศึกษาหลายชิ้นพบว่า แสงสว่างจ้าและการกะพริบไม่นิ่งของแสง กระตุ้นปวดหัวให้หนักขึ้นรวมถึงไมเกรนได้ 

7.กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่านที่เอาแต่สนใจหน้าจอจนลืมสนใจอาการปวดตามธรรมชาติ เมื่อกระเพาะปัสสาวะส่งสัญญาณให้เข้าห้องน้ำ แต่กลับเลือกที่จะจดจ่ออยู่หน้าจอจนลืมทุกอย่าง เมื่อต้องอั้นบ่อยเข้าก็มีส่วนทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดจนถึงอักเสบได้เหมือนกัน

8.ปวดหลัง อาการปวดนี้เกิดได้ในท่านที่อยู่กับหน้าจอได้ทั้งแบบที่ก้มกดและนั่งหน้าจอ เพราะอาชีพที่ทำงานจำเป็นต้องอยู่ชิดใกล้กับหน้าจอวันละหลายชั่วโมง เรื่องนี้อยู่ที่ท่านั่งมีส่วนด้วย ดังนั้นการจัดอิริยาบถให้เหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง 

9.อุบัติเหตุ มือถือและหน้าจอที่สะกดจิตให้เอาแต่ก้มดูจนลืมมองรอบตัว ส่วนที่หูก็มีที่ฟังเสียบอยู่จนไม่ได้ยินสรรพเสียงขณะข้ามถนนหรือขับรถ ปรากฏการณ์มีโลกส่วนตัวกับหน้าจอนี้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนต้องไปอยู่โลกหน้าได้ 

และสุดท้ายที่น่าห่วงคือ 10.ถึงแก่ชีวิต หรืออาจเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากหน้าจอโดยตรงแต่ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ไฮเทคหน้าจอทั้งหลายจะกลายเป็นมฤตยูคร่าชีวิตได้ เมื่อผู้ใช้ไม่อยู่ในกาละเทศะที่เหมาะสม เป็นต้นว่าเดินตัดหน้ารถในขณะที่เสียบหูฟังจนไม่ได้ยินเสียงแตรเตือน หรือก้มลงดูแต่จอจนลืมมองถนนขณะอยู่หลังพวงมาลัย

ทั้งหมดนี้เป็นภัยใกล้ตัวในขณะนี้ ติดจอได้แต่ก็ต้องรู้เท่าทันเพื่อชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี