ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์เดลินิวส์ : คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเห็นความสำคัญเด็กอ่อน ระบุถูกละเลยมานานแล้ว เร่งเก็บข้อมูลยกร่าง พ.ร.บ.ดูแลเป็นการเฉพาะ หวังพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมของเด็กในทุกด้านก่อนเข้าเรียน โดยไม่ใช่เฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจของเด็ก รวมถึงต้องให้ความรู้แม่และครอบครัวด้วย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงต่าง ๆ ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กและปฐมวัย พ.ศ.2555-2559 และได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้เร่งดำเนินการเรื่องสวัสดิการเด็กแรกเกิด โดยจัดสรรงบฯ ให้แก่เด็กที่เกิดในครอบครัวเด็กยากจน เดือนละ 400 บาท (เด็กที่เกิดวันที่ 1 ต.ค.2558-30 ก.ย.2559) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ ซึ่งมีการสำรวจพัฒนาการของเด็กไทยโดยคัดกรองเด็กช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือนและ 42 เดือน ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงพัฒนาการในปัจจุบัน ส่วนกระทรวงมหาดไทย(มท.) มีการเร่งพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการพัฒนาและประเมินยุทธศาสตร์ฉบับ 2555-2559  คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศและข้อมูล และ คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ สกศ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะทำการประเมินผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานเพื่อสรุปข้อดีข้อเสีย ก่อนจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับใหม่ พ.ศ.2569-2569 ต่อไป

“สำหรับแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นั้น ได้มีการวางกรอบไว้คร่าวๆ ว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาร่วมกันบูรณาการ โดยที่ประชุมมีแนวคิดที่จะยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อดูแลเด็กอ่อนของประเทศไทย ช่วง 0-3 ปี เช่นเดียวกับที่กำลังยกร่าง พ.ร.บ.แม่วัยใส เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ ไม่สะดุด แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดระบบการดูแลเด็กอ่อนที่เหมาะสม เพื่อแบ่งเบาภาระของแม่ลูกอ่อนและครอบครัว ซึ่งจะส่งผลดีถึงประสิทธิภาพของงานด้วย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ” รองนายกฯ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาถึงแม้หน่วยงานต่างๆ มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กแล้วกว่า 20,000 แห่ง แต่เป็นการเน้นดูแลเด็กเล็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ยังไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กอ่อน อายุ 0-3 ปี เท่าที่ควร ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญและจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต

ที่มา : http://www.dailynews.co.th