ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : ในที่สุด ฝ่ายเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงขั้วอำนาจ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต่อสู้ได้สัมฤทธิผล 2 ประการ

หนึ่งคือ นพ.ณรงค์ ได้กลับมาเกษียณที่กระทรวงหมอ สองคือ ขวากหนามสำคัญอย่าง ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. รวมถึงผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะทำงาน รมว.สธ. รวมถึงทีมงานที่เป็นเครือข่ายอดีตชมรม "แพทย์ชนบท" ต้องอันตรธาน หลุดจากตำแหน่งทันที หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรี

เป็นไปตามดีลก่อนหน้านี้ นั่นคือ หากหมอณรงค์กลับมา จะเกิดปรากฏการณ์ 1 แลก 3 นั่นคือ ยงยุทธ หมอรัชตะ และหมอสมศักดิ์ ต้องหลุดจากตำแหน่งเดิม

จะด้วย "คอนเนกชั่น" ที่เหนือชั้น หรือจะด้วยอิทธิฤทธิ์ของ "นกหวีดทองคำ" ก็แล้วแต่คนจะวิเคราะห์ แต่การต่อสู้ครั้งนี้มีผลสำคัญ นั่นคือทำให้ขั้วอำนาจในกระทรวงสวิงกลับ ไม่เอียงกะเท่เร่ไปยังฝั่งแพทย์ชนบทเหมือนในห้วงที่ผ่านมา

การเข้ารับตำแหน่ง รมว.สธ.ของ "หมอหลวง" ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง "ศิริราช" ถือว่าเหนือความคาดหมายของคน สธ.อยู่พอสมควร เพราะที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์กันว่า ตำแหน่งรัฐมนตรี น่าจะอยู่ในสายสุดโต่ง ข้างเดียวกันกับ นพ.ณรงค์ รวมถึงหมอสายโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มากกว่าจะออกมาแนวนี้

วันที่ประกาศชื่อ รมว.สธ. ออกมา นอกจากแพทย์ชนบทจะผิดหวัง เพราะสูญเสียอำนาจแล้ว ฝั่งลูกน้องปลัดณรงค์ก็ผิดหวังเหมือนกันจนบางคนถึงกับตั้งคำถามว่า "ยังไม่เข็ดอีกหรือ"

เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ หมอรัชตะ ก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่จากโรงเรียนแพทย์ และเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เช่นเดียวกับหมอปิยะสกล ฝั่งข้าราชการกระทรวงจึงออกอาการหวั่นๆ ว่าสุดท้ายจะ "เละตุ้มเป๊ะ" อย่างเดิม

แต่ก็อาจตีความได้อีกอย่างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองเกมการเมืองภายใน สธ.ได้ขาด ด้วยการบาลานซ์อำนาจแต่ละฝ่าย เพราะภาพของ หมอปิยะสกล ค่อนข้างเป็นกลาง ไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ยิ่งมีข่าวแพลมออกมาว่าทีมงานรัฐมนตรีจะมีชื่อของ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี มาเป็นเลขานุการ รมว.สธ. พญ.มยุรา กุสุมภ์ เป็นผู้ช่วย รมว. นพ.ธวัช สุนทราจารย์ เป็นที่ปรึกษา รมว. รวมถึง นพ.ชาตรี บานชื่น และ นพ.เสรี ตู้จินดา มาเป็นคณะทำงาน ก็ยิ่งตอกย้ำภาพความเป็นกลาง มากกว่าที่จะแบ่งขั้วขัดแย้งเหมือนเดิม

เพราะแม้ทั้งหมดจะเป็นศิษย์เก่าศิริราช แต่ก็ถือเป็น "บิ๊กเนม" ที่คน สธ.ยอมรับ และภาพยังค่อนข้างคลีนเกือบทั้งหมด มีเพียงหมอชาตรี ที่ติดภาพของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อยู่บ้าง

หลังจากนี้ภารกิจสำคัญที่คนในกระทรวงจับจ้อง ก็คือในยุคที่หมอศิริราชกุมบังเหียนกระทรวง ทิศทางของโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" จะเปลี่ยนไปหรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าโครงการ 30 บาท ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. ก็เคยอ้างงานวิจัย ระบุว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีคุณภาพการให้บริการที่ไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงอาจต้องเปิดทางให้เกิดการ "ร่วมจ่าย"

ขณะที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีฯ ศิริราช ซึ่งปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เคยพูดชัดว่าโครงการ 30 บาทฯ ทำให้โรงเรียนแพทย์ต้องรับภาระการขาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งทางออกที่หนีไม่พ้นคือคนที่พอมีเงินจะต้อง "ร่วมจ่าย"

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในยุคหมอปิยะสกล "นโยบาย 30 บาท" จะมีทิศทางที่เห็นอกเห็นใจโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นั่นคือการกำหนดแนวทาง "ร่วมจ่าย" เพื่อดูแลโรงพยาบาลใหญ่มากกว่าจะเอาใจหน่วยงานตระกูล ส.อย่างที่ผ่านมา

อีกเรื่องที่ถูกจับตาก็คือการสานต่อมาตรการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน ที่รัฐมนตรีชุดที่แล้วถูกวิจารณ์หนักว่าทำแบบ "ลูบหน้าปะจมูก"

เพราะมาตรการอย่างการประกาศค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนบนเว็บไซต์ การแยกบรรทัดราคายา ไม่ได้ทำให้ค่ารักษาถูกลงจริง ขณะที่การปรับโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ" โดยตั้งกองทุนกลาง รวมถึงมาตรการควบคุมราคายาทั้งระบบนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่คืบหน้าอะไร

น่าสนใจว่าในยุคที่รัฐมนตรีมาจากโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมียูนิตให้การรักษาแบบ "พรีเมียม" และมีภรรยาเป็นแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป

ด้วยอายุของ ครม.ชุดนี้จะไม่มากนัก คือ อีก 1 ปีเศษ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อไปสู่รัฐบาลชุดต่อไป ภารกิจของทีม "ปิยะสกล" จึงต้องการตัดสินใจที่เด็ดขาด รวดเร็ว และต้องนำไปสู่การปฏิรูปเชิงระบบในระยะยาว

ที่สำคัญก็คือจะจมปลักกับความขัดแย้งระหว่างหมอกับหมอแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 สิงหาคม 2558