ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระบบบัตรทองได้สร้างสิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศอีกมาก เรื่องต่อไปที่จะกล่าวถึงคือ เรื่องการปลูกถ่ายหัวใจ

ประเทศไทยสามารถพัฒนาจนสามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือปลูกถ่ายหัวใจได้ตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปี 2554 มีโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้ 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลโรคทรวงอก (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันโรคทรวงอก)

ถึงปี 2554 สถานการณ์การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะแต่ละแห่งมีการผ่าตัดน้อยมาก เนื่องจากผู้ที่มีสิทธิได้รับบริการนี้คือ สวัสดิการราชการราว 4.96 ล้านคน และคนที่มีฐานะร่ำรวยจำนวนน้อยเท่านั้น ที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและการรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิตหลังการผ่าตัดได้ไหว การมีคนไข้ให้ผ่าตัดน้อยราย ทำให้ศัลยแพทย์และทีมงาน “เฉามือ” หากไม่จัดการแก้ไข ในไม่ช้า ศักยภาพด้านนี้ของประเทศไทยจะร่วงโรย และ “ล้มหายตายจาก” ไปในที่สุด ในอนาคต หากคนไทยจำเป็นจะต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ก็จะต้องเดินทางไปรับการรักษาในต่างประเทศ ซึ่งย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก และมีความเสี่ยงสูง ทั้งจากการเดินทาง และ “กำแพง” วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องภาษา อาหาร รวมทั้งดินฟ้าอากาศและเวลาที่แตกต่างกัน ข้าราชการทั่วไปที่เคยได้สิทธิ์ ก็จะหมดสิทธิ์ไปโดยปริยาย มีแต่คนมีเงินร่ำรวยมากๆ บางคนเท่านั้น ที่จะมีโอกาสรอดชีวิตจากเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษานี้ได้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับการ “ปรับทุกข์” จากบรรดาอาจารย์ที่ห่วงใยในปัญหานี้ จึงได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบ เห็นว่า ทางแก้ไข คือ ต้องขยายสิทธิคุ้มครองเรื่องนี้ให้แก่คนไข้ในระบบัตรทองราว 48 ล้านคน ไม่ว่ายากดีมีจน จึงจะมีจำนวนคนไข้แต่ละปีเพียงพอให้ประเทศไทยสามารถรักษา “ขีดความสามารถของประเทศ” ในเรื่องนี้ไว้ได้

หลังจากนั้น ได้ศึกษาผลการรักษาเปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกา และศึกษาภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากคนไข้เหล่านี้ นอกจากค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดที่สูงมากแล้ว ยังต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่องตลอดชีวิตด้วย ในที่สุดก็ได้นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554

มีข้อมูลสำคัญที่พิจารณา ดังนี้

คุณภาพชีวิตหลังการปลูกถ่าย พบว่าร้อยละ 90 มีคุณภาพชีวิตเทียบเท่าคนปกติ ร้อยละ 75 สามารถทำงานได้ ร้อยละ 80 ออกกำลังกายได้สม่ำเสมอ สามารถมีครอบครัวและมีบุตรได้ และเกือบทั้งหมดสามารถดูแลตัวเองได้

ค่าใช้จ่าย

  • ระยะเตรียมผู้ป่วย ประมาณ 30,000 บาท
  • ระหว่างการผ่าตัด ประมาณ 350,000 บาท

หลังการผ่าตัด 

  • 1 ปี ประมาณ 330,000 บาท
  • 2 ปี ประมาณ 240,000 บาท
  • มากกว่า 2 ปี ประมาณ 100,000 บาท
  • 10 ปี ประมาณ 2,400,000 บาท

จำนวนผู้ป่วย นอกจากจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจแล้ว จะผ่าตัดได้จำเป็นต้องมีผู้เสียชีวิตที่ยินดีบริจาคหัวใจ ที่เข้ากันได้ดีกับผู้ป่วยด้วย จากการประมาณการคาดว่า จะมีผู้ได้รับการผ่าตัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปีละ 2-3 ราย เป็น 200 ราย ในสิบปีต่อมา ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาและพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในประเทศไทยไว้ได้ด้วยดี โดยมีค่าใช้จ่ายในปีที่ 10 เป็นต้นไป ราวปีละ 350 ล้านบาท

คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า

1. การรักษาดังกล่าวเป็นการรักษามาตรฐานที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ทำให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร

2. การรักษาดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะแบกรับได้ เป็นการเจ็บป่วยที่ทำให้ประชาชนส่วนมากอาจถึงขั้นล้มละลาย (Catastrophic illness) สมควรที่รัฐจะช่วยดูแล

3. ผลกระทบต่องบประมาณโดยรวมไม่สูง เพราะมีผู้ป่วยแต่ละปีจำนวนไม่มาก

4. สามารถรักษาและพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ด้านนี้ของประเทศไว้ได้ หากปล่อยไว้ไม่ดูแลแก้ไขจนร่วงโรยไป จะฟื้นฟูให้กลับมามีความสามารถดังเดิมยากมาก ต้องใช้เวลายาวนาน และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

5. สามารถช่วยเสริมระบบรับบริจาคอวัยวะ ให้เข้มแข็งมากขึ้น เป็นประโยชน์แก่การขยายการปลูกถ่ายไต ซึ่งประสิทธิผลการรักษาดี ออกไปได้ด้วย

ในที่สุด ที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

ผมเล่าเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียด เพื่อให้เห็นว่าระบบบัตรทอง แม้มุ่งดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ฐานะปานกลางหรือยากจน แต่มิได้ละเลยการรักษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีค่าใช้จ่ายสูงด้วย โดยการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวมีผลสำคัญต่อการสนับสนุนการรักษาขีดความสามารถของประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม และเป็นชื่อเสียงอันดีของประเทศ และข้อสำคัญมีการพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้รับ กับภาระค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ให้เงินภาษีอากรของประชาชนได้เกิดประโยชน์โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

ติดตามต่อตอนที่ 10