ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรื่องที่สมควรกล่าวถึงต่อไป คือ เรื่อง สายด่วน 1330

เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ ของระบบบัตรทอง จากความคิดที่ว่า เมื่อประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมกังวลว่าจะเป็นมากน้อยแค่ไหน จะไปรับบริการที่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำอย่างไรดี จะได้รับบริการฟรีจริงหรือไม่ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไร จะไปใช้สิทธิได้ที่ไหน ไปทำงานที่อื่นยังไม่ได้ย้ายสำมะโนครัวตามตัวไป จะมีปัญหาหรือไม่ ไปเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด จะใช้สิทธิของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือ สิทธิบัตรทอง ฯลฯ

และที่สำคัญ คือ เมื่อไปรับบริการแล้วเกิดปัญหา เช่น ทางโรงพยาบาลไม่รับรักษา บอกให้กลับไปเอาใบส่งตัวมาก่อน หรือรับไว้รักษาแล้วคนไข้อาการหนักขึ้น ไม่มีหมอมาดู จะทำอย่างไร ฯลฯ 

คำตอบเบื้องต้นคือ จะต้องเปิดหน่วยรับเรื่องร้องเรียนขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะในแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้วย

ขณะนั้น ผมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เลขาฯ อย. มี “สายด่วน 1556” ของ อย. ซึ่งพัฒนามานานพอสมควร และมีการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างกว้างขวาง มีป้ายคัตเอาท์ตามมุมถนนเกือบทั่วประเทศ และมีสปอตทางวิทยุเชิญชวนให้ประชาชนโทรเข้าไปสอบถาม หรือปรึกษาเมื่อมีปัญหากับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทีมงานจึงชี้มาที่ผมให้ช่วยทำเรื่องนี้

ที่จริงในกระทรวงสาธารณสุข มีสายด่วนอื่นๆ อีกหลายสาย เช่น ของกองสุขศึกษา และกรมสุขภาพจิต เป็นต้น อย. ไม่ใช่หน่วยบริการเรื่องการรักษาพยาบาลโดยตรง แต่ขณะนั้นไม่ใช่เวลาจะ “โยนกลอง” กัน ผมจึงรับงานนี้ เบื้องต้นได้เจียดงบประมาณมาได้ 3 ล้านบาท จึงเริ่มงานโดยขอให้ทางกระทรวงสั่งการให้โรงพยาบาลตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนขึ้น จัดระบบงานและจัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานนี้

งานนี้ทำได้ราว 1 ปี ผมก็ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการดำเนินงานต่อ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

งานนี้มาสำเร็จจากฝีมือของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งทำคู่ขนานมาตั้งแต่ต้น

เมื่อเริ่มระบบบัตรทอง นพ.สงวนดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยก่อนหน้านั้น เป็นผู้ดูแลระบบประกันสุขภาพอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างเริ่มโครงการบัตรทองในปี 2544 ควบคู่กับการผลักดันพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนออกมาเป็นกฏหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 การพัฒนาระบบสายด่วนเริ่มต้นในสำนักงานประกันสุขภาพ ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ ช่วง พ.ศ. 2544

ดังคำสอนของ นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ใหญ่ในวงการสาธารณสุขหลายๆ ท่านที่ว่า เมื่อเริ่มงานใดๆ ในโรงพยาบาลหรือในหน่วยงานสาธารณสุข ถ้าไม่รู้ว่าจะให้ใครทำ ก็ให้เริ่มที่พยาบาล จะได้รับความร่วมมือ และทำงานจนสำเร็จ ถ้ารู้จักสนับสนุนให้ดี นพ.สงวน เริ่มต้นงานสายด่วน 1330 โดยชักชวนให้ คุณชื่นสุข ฤกษ์งาม ซึ่งเรียนจบพยาบาลจากคณะพยาบาลศาสตร์ศิริราช ขณะนั้นทำงานอยู่ที่สำนักงานประกันสุขภาพในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีมือรองคือ คุณศิริพร สินธนัง ซึ่งเรียนจบพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลมิชชัน เคยทำงานที่โรงพยาบาลน่านหลายปี ได้รับการหล่อหลอมอย่างดีจาก นพ.บุญยงศ์ วงศ์รักมิตร และบรรดาลูกศิษย์ แล้วย้ายเข้ามาทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน ก่อนเข้ามาทำงานในสำนักงานประกันสุขภาพ

งานนี้เริ่มต้นในห้องเล็กๆ โดยแบ่งเนื้อที่ของห้องทำงานสายด่วน 1669 ของศูนย์นเรนทร ที่ให้บริการเรื่องรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่ข้างๆ ห้องที่เป็นสำนักงานธนาคารกรุงไทยในตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากห้องเล็กๆ ที่มีโต๊ะเก้าอี้ให้คนนั่งทำงานได้ 6-7 คน ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ มีแต่เครื่องโทรศัพท์สำนักงาน ใช้หมายเลขของสายด่วน 1669 ไม่กี่เครื่อง เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนก็จดลงบนกระดาษ แรกๆ คำร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาล มีประชาชนสอบถามเข้ามาบ้าง ว่าเมื่อไรจะขยายบริการไปจังหวัดของตัว เพราะแรกๆ เริ่มต้นทำใน 6 จังหวัด ในปี 2554 ก่อนจะเพิ่มเป็น 15 จังหวัด แล้วจึงขยายไปทั่วประเทศในช่วงปลายปี นั้นเอง

งานรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ เริ่มในปี 2545 เริ่มงานแบบง่ายๆ ใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก ยังไม่มีระบบงานแบบมืออาชีพ ต่อมางานเริ่มมากขึ้น และได้ที่ทำงานใหม่ ที่สำนักงานหลักประกัน ชั้น 4 ของอาคาร 5 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวง สามารถขอหมายเลข 1330 มาได้โดยนำหมายเลขสำนักงานที่ขึ้นต้นด้วย 02 ไปแลก เจ้าหน้าที่เพิ่มเป็น 8-9 คน โดยรับเจ้าหน้าที่ที่จบจากคณะนิเทศศาสตร์เข้ามาทำงาน ตอนนั้นใช้จดคำร้องเรียนลงบนกระดาษ ให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด แต่ยังไม่ทำตลอด 24 ชั่วโมง ปิดราว 2-3 ทุ่ม

งานเริ่มเป็นระบบมากขึ้นตามลำดับ เริ่มจากการ ถาม-ตอบ ธรรมดา ต่อมามีทีมวิชาการ ที่ศึกษาหาคำตอบทั้งด้านการแพทย์การพยาบาล และด้านสิทธิต่างๆ โดยต้องหาข้อมูลความรู้ ทั้งสิทธิตามระบบบัตรทอง และระบบอื่นๆ คือประกันสังคม และข้าราชการ เป็นต้น

งานเริ่มขยายอย่างก้าวกระโดดหลังจากการไปศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทแอดวานซ์อินโฟเซอร์วิศ หรือ เอไอเอ (AIS) และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นต้น เริ่มมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ มีการศึกษาระบบซอฟต์แวร์ และในที่สุดได้เลือกใช้ “ระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์” (Customer Relation Management : CRM) ซึ่งครอบคลุมระบบตอบรับอัตโนมัติ ระบบกระจายสายอัตโนมัติ ระบบบันทึกเสียง ระบบฐานข้อมูลความรู้ ระบบควบคุมคุณภาพ ระบบประเมินความพึงพอใจหลังการใช้บริการ และระบบบัตรทอง งานเริ่มลงรากปักฐานจนมั่นคง เมื่อ สปสช. ได้ย้ายเข้าสู่บ้านใหม่หลังแรก คือ อาคารจัสมิน โดยสำนักงานของสายด่วน 1330 ได้อยู่ที่ชั้นที่ 27 ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อาคารศูนย์ราชการในปัจจุบัน ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

ปัจจุบัน สายด่วน 1330 มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามกรอบราวร้อยคน มีที่นั่งทำงานบริการ 60 ที่นั่ง การทำงานเป็นระบบอย่างดี มีทีมงานที่เป็น “กองหลัง” (Back Office) ทั้งทีมพยาบาล ทีมข้อมูล ทีมพี่เลี้ยง และระบบการฝึกอบรมที่เข้มแข็ง

มีการแบ่งทีมงานเป็นกลุ่มขนาดย่อม 7-8 คน แต่ละกลุ่มมี “พี่เลี้ยง” (Supervisor) คอยกำกับดูแลช่วยสนับสนุนการทำงานอย่างใกล้ชิด การให้คำตอบหรือคำปรึกษาหารือแต่ละครั้ง จะใช้มาตรฐานสากล คือ มีการอัดเทป โดยการขออนุญาตจากผู้โทรเข้าไปสอบถามก่อนทุกครั้ง ทีมงานจะมีการสุ่มฟังเทปเพื่อดูว่าการให้คำตอบหรือคำปรึกษา ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ได้มาตรฐานหรือไม่ หากไม่ ก็จะมีการแนะนำเพิ่มเติม หรือฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมงานที่ “อิงฐานความรู้” (Knowledge-based)

การร้องเรียนหารือบางกรณี จะเป็นการร้องเรียนสถานพยาบาล เรื่องคุณภาพบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 57-59 ก็จะมีการดูแลเพื่อคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชน ต่อมามีนโยบายเรื่อง “เจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์” โดย สปสช. ได้รับมอบหมายให้เป็น “หน่วยชำระกลางทางบัญชี” (Clearing House) ทำหน้าที่หักชำระบัญชีระหว่างกัน ให้อีก 2 กองทุนคือ สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นมาก เพราะเป็นนโยบาย “ประชานิยม” ที่ไม่มีการศึกษาเตรียมการมาก่อน ใช้แต่อำนาจสั่งการตามอำเภอใจ ทำให้คนที่เข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งถูกเรียกเก็บเงินแพงๆ จำนวนมาก สายด่วน 1330 ต้องทำหน้าที่ตัวกลาง รักษาสิทธิคนไข้ เรียกเงินคืน ซึ่งก็สามารถทำหน้าที่ “หนังหน้าไฟ” นี้ได้ดี

ทุกวัน จะมีการประชุมสรุปงาน เดิมทำตอนเช้า เรียกว่า “สรุปงานยามเช้า” (Morning Brief) ต่อมาพบว่า สายโทรเข้าจะมากตอนช่วงเช้า การประชุมสรุปงานช่วงเช้า จึงรบกวนงานบริการ จึงเปลี่ยนมาเป็น “สรุปงานยามเย็น” (Evening Brief) แทน ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว วันต่อวัน งานจึงมีการพัฒนาอย่างฉับไว และโดยต่อเนื่อง

“สายด่วน 1330” ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ “ให้บริการหลังการขาย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบริการในภาคเอกชนได้อย่างดียิ่ง เป็นระบบที่สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการควรทำมานานแล้ว แต่ไม่ได้ทำ ส่วนประกันสังคมมีระบบสายด่วนให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกันตน ซึ่งมีเรื่องควรได้รับคำปรึกษามากมายนอกเหนือจากเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล แต่บริการด้านนี้ได้ทำโดยให้บริการในวัน-เวลาราชการ เป็นหลักเท่านั้น ต่อมามีการขยายการให้บริการนอกเวลาราชการ แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะในวันราชการ

ในหนึ่งสัปดาห์ มีเวลาทั้งสิ้น 168 ชั่วโมง เวลาราชการมีเพียงวันละ 35 ชั่วโมง ที่เหลือ 133 ชั่วโมง เป็น “เวลาราษฎร” ปัญหาย่อมเกิดได้ทุกเวลา และส่วนใหญ่เกิดนอกเวลาราชการและวันหยุด ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลามากกว่ามาก โดยเฉพาะการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็น “อกาลิโก” เกิดเวลาใดก็ได้ การให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง อย่างที่สายด่วน 1330 ทำอยู่ย่อมเป็นผลดี และเป็นการทำงานที่แสดงถึงความห่วงใยใน “ประโยชน์สุข” ของประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากการทำงานของสายด่วน 1330 ด้วยตนเองแล้ว เพื่อให้งานได้ผลดีโดยประหยัด ได้มีการสร้างเครือข่าย โดยการจัดตั้ง “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล” ขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐทั้งในระดับโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและให้คำอธิบายโดยตรงแก่ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเกิดความเสียหายจากการรับบริการ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยรวดเร็ว รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพบริการของโรงพยาบาลต่อไปด้วย ปัจจุบันมีศูนย์บริการดังกล่าวแล้ว รวม 782 แห่ง จากโรงพยาบาลรัฐกว่า 900 แห่ง

ในฐานะนายทหาร กำลังพลของท่านนายกฯ ส่วนใหญ่คือ ทหารเกณฑ์ทั้งในประจำการและนอกประจำการ รวมทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูกหลาน ปู่ย่า ตายาย จำนวนนับสิบล้าน ท่านนายกฯ น่าจะลองให้ทีมงานของท่านทดลองใช้บริการ 1330 ดู จะพบว่า บริการที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริงของหน่วยงานของรัฐ ก็สามารถทำได้ไม่ด้อยไปกว่าบริการที่ได้มาตรฐานของภาคเอกชน

นอกจากสายด่วนให้คำปรึกษาอย่าง 1330 แล้ว นพ.สงวนยัง “คิด” และ “ออกแบบ” ระบบบัตรทอง ให้มีการรับฟังความคิดเห็น ทั้งของผู้ให้บริการและประชาชนเพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงระบบให้สามารถแก้ปัญหาของผู้ให้บริการ ตอบสนองความต้องการอันจำเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18(13) ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการ “จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี”

นอกจากนี้ ยังกำหนดไว้ในมาตรา 46 วรรคสองว่า ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้แก่สถานบริการสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับปรุงรายละเอียดทุกปีจะ “ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 (13) ก่อน” ด้วย 

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของทั้งผู้ให้บริการและประชาชนมาก ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีกลไกและวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และหลากหลาย ตามข้อบังคับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พ.ศ. 2556 ข้อ 6 “การรับฟังความเห็นอาจใช้วิธีหนึ่งวิธีใด หรือหลายวิธี ดังต่อไปนี้

(1) จัดกระบวนการเครือข่ายสุขภาพ

(2) การประชาพิจารณ์ หรือวิธีการอื่นในทำนองเดียวกัน

(3) การประชุมเชิงปฏิบัติการ

(4) การสนทนากลุ่มย่อย

(5) การสัมภาษณ์รายบุคคล

(6) การเปิดให้แสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือระบบเครือข่ายสารสนเทศ

(7) การเปิดโอกาสให้ประชาชนมารับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็น”

ในช่วงปี 2555-2558 ซึ่ง นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ มารับหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ได้ให้ความเอาใจใส่กับการรับฟังความคิดเห็นนี้มากเป็นพิเศษ

นอกจากเรื่องการเอาใจใส่ต่อปัญหาของประชาชน และความคิดเห็นของทั้งผู้ให้บริการและประชาชนอย่างจริงจังแล้ว  นพ.สงวนยังออกแบบ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในระบบบัตรทองอย่างดี ทั้งในกลไกของคณะกรรมการ ซึ่ง อปท. มีผู้แทน อปท. ทั้ง 4 รูปแบบ ได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ. และการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือ กทม. และเมืองพัทยา รวมถึง 4 คน เข้าร่วมเป็นทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และยังมีบทบัญญัติ โดยเฉพาะกำหนดบทบาทของ อปท. ดังนี้

“มาตรา 47 เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับบุคคลในพื้นที่ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้องค์กรดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน”

ตั้งแต่สมัยที่ นพ.สงวนยังมีชีวิตอยู่ ได้ทำให้มาตรา 47 เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นขึ้น ด้วยการเจียดจ่ายเงินจากกองทุน ซึ่งแม้มีอยู่อย่างจำกัดมาก แต่ได้ตัดเงินจากจากค่าเหมาจ่ายรายหัวคนละ 37.50 บาท ให้ อปท. จ่ายสมทบตามอัตรา คือ อบต. สมทบ 10%, 20%, 30% ตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ และให้เทศบาลสมทบ 50% โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ อปท. แห่งใดยินดีตั้งงบประมาณสมทบ ก็สามารถตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นขึ้นได้

การดำเนินการเรื่องนี้ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2549 และมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดยจนครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ในสมัยที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบัน สปสช. เพิ่มเงินกองทุนนี้ จาก 37.50 เป็น 40 บาท และเป็น 45 บาท ในปัจุบัน โดยมีการปรับเงินสมทบของ อปท. เพิ่มขึ้น และได้มีกองทุนสำหรับช่วยฟื้นฟูคนพิการ ในระดับจังหวัด คือ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยเริ่มในปี 2554 ปัจจุบันมีกองทุนดังกล่าวครอบคลุมแล้ว 41 จังหวัด สามารถช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์แก่คนพิการในแต่ละจังหวัดได้อย่างดี

จะเห็นว่า ระบบบัตรทอง แทนที่จะทำงาน “เชิงรับ” ไปวันๆ ได้ทำงาน “เชิงรุก” สร้างและพัฒนาระบบ ทั้งการใช้เงินที่ได้รับในอัตราต่ำสุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และยังมีการพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาชน รวมทั้งยังคงพัฒนาระบบการมีส่วนร่วม (Participation) ของทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ให้เป็นรูปธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยที่รากฐาน คือ ประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) เพื่อให้ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ได้ลงรากปักฐานบนผืนแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง

ติดตามต่อ ตอนที่ 15