ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากควันธูปและการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง หากสูดสะสมเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดสารมะเร็ง เผยจุดเพียง 3 ดอกเท่ากับสูดควันรถบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง แนะควรใช้ผ้าปิดจมูก และอยู่ในที่ถ่ายเทสะดวก

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมการดูแลสุขภาพประชาชนและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคาร บ้าน สำนักงาน โรงแรม ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาคุณภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคารที่เกิดจากเครื่องปรับอากาศที่ขาดการดูแล สารอินทรีย์ระเหยง่าย สีทาอาคารและวัสดุ เครื่องใช้สำนักงาน ฝุ่นจากเครื่องถ่ายเอกสาร ควันธูปและควันจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมา ซึ่งจากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ มีอัตราป่วย 473.34 คนต่อประชากร 1,000 คน จำเป็นต้องดำเนินมาตรการป้องกัน ลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยปลอดภัยและมีสุขภาพดีจากการได้รับอากาศที่สะอาด

“โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศรอบๆตัวเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทองในวัดไทย วัดจีน ศาลเจ้า รวมถึงการจุดในบ้าน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณีเชื้อสายจีน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งผู้ที่อยู่ในบริเวณภายในและภายนอกสถานที่นั้นๆ ได้ เพราะการจุดธูปจำนวนมาก ๆ แต่ละครั้ง ธูปที่เผาไหม้จะปล่อยฝุ่นละอองและสารมลพิษออกมามากมาย สารที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น กาว สี น้ำหอมเคมีเมื่อจุดธูปจะทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารอินทรีย์ระเหยง่าย รวมถึงสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ สารในกลุ่ม PAH (Polycyclic aromatic hydrocarbon) เบนซินบิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน

นอกจากนี้ ยังมีโครเมียม ตะกั่ว และนิกเกิล ส่วนขี้เถ้าที่เกิดจากการจุดธูปจะมีแมงกานีสเป็นส่วนใหญ่ การกำจัดหรือจัดการขี้เถ้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทิ้งลงในน้ำ อาจปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือดินได้ หากดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแมงกานีสจะทำให้เกิดผลเสียต่อสมอง ซึ่งได้มีงานวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่าการจุดธูปเพียง 3 ดอก ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเทียบเท่ากับการสูดควันรถบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งอีกด้วย สำหรับการเผากระดาษกระดาษเงินและกระดาษทองทำให้เกิดสารในกลุ่ม PAH เบนซินบิวทาไดอีน ซึ่งล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง เกิดจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตกระดาษเงินและกระดาษทอง เช่น สี กาว สารที่ใช้เคลือบเงา เป็นต้น

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การป้องกันตนเองให้ปลอดภัยต่อการได้รับสารต่างๆ จากการจุดธูป และการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ทำได้ด้วยการใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะจุด เผา หรือต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นควันจำนวนมาก ใช้ธูปสั้นและขนาดเล็กแทนการใช้ธูปยาวและมีขนาดใหญ่เพื่อลดปริมาณควัน หากต้องจุดภายในบ้าน ควรเปิดประตู หน้าต่าง ให้มีการระบายควันออกไปนอกบ้าน หรือจุดในกระถางบรรจุทรายนอกบ้านในพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ ไม่ควรจุดธูปแล้วปักลงบนอาหารหรือใกล้กับอาหารเพื่อป้องกันการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนควันและขี้เถ้าจากธูป เก็บกวาดขี้เถ้า เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากขี้เถ้าเข้าสู่ร่างกาย สำหรับในสถานที่ที่มีการจุดธูปจำนวนมาก ควรจัดสถานที่ให้มีการระบายอากาศดี ติดตั้งพัดลมระบายเพื่อดึงควันธูปออกสู่ภายนอกให้เร็วที่สุด จัดเจ้าหน้าที่ในการดับควันธูปและสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควันขณะปฏิบัติงาน ดูแลไม่ให้มีควันฟุ้งในพื้นที่จำนวนมาก ไม่ควรให้เด็กเล็กอยู่ใกล้ในบริเวณดังกล่าว และต้องล้างมือ ล้างหน้าหลังจากการสัมผัสหรืออยู่ในบริเวณที่มีควันธูปและกระดาษเงิน กระดาษทอง

“สำหรับในกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อับทึบ ชื้น มีเชื้อรา หรือฝุ่นละออง ซึ่งสารเหล่านี้จะกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการแพ้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือสูดดมควันธูป หากไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการพักผ่อนหรือนอนหลับบริเวณที่มีการจุดธูป และหมั่นทำความสะอาดบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองจากควันธูปที่อาจตกค้างได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว