ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข่าวจากที่ประชุมมะเร็งปอดโลก ครั้งที่ 16  ที่เมืองเดนเวอร์ ว่า มะเร็งปอด เป็นมะเร็งอันดับหนึ่งของโลก โดยมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ 1.6  ล้านรายในแต่ละปี และเสียชีวิต 1.3 ล้านรายต่อปี โดยร้อยละ 80 ของมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ การควบคุมยาสูบจึงมีความสำคัญสูงสุดในการที่จะลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด แม้ว่างานวิจัยในสหรัฐอเมริกาจะพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะแรกด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้รังสีขนาดต่ำในผู้สูบบุหรี่ที่อายุ 55-74 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสามารถตรวจพบมะเร็งปอดในระยะแรก และนำไปสู่การรักษาที่ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ร้อยละ 20 ข้อเสนอในที่ประชุมจึงยังคงเน้นการควบคุมยาสูบเพื่อลดจำนวนผู้ที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งปอด โดยให้ประเทศต่างๆ  ดำเนินการตามพันธผูกพันอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้สูบบุหรี่และญาติสามารถที่จะฟ้องบริษัทบุหรี่ได้ สนับสนุนโครงการป้องกันการสูบบุหรี่ของเด็กๆ สนับสนุนการรักษาให้เลิกสูบบุหรี่ในคลินิกและในโรงพยาบาล

ศ.นพ.ประกิต เปิดเผยต่อไปว่ามะเร็งปอดระยะแรกจะไม่มีอาการ และการถ่ายเอ็กซเรย์ปอดทุกสามถึงหกเดือน เมื่อตรวจพบมะเร็งปอด โอกาสที่จะรักษาให้หายก็มีน้อยมาก เนื่องจากเมื่อไหร่ที่เห็นจุดหรือก้อนมะเร็งในเอ็กซเรย์ปอด ส่วนใหญ่มะเร็งได้กระจายไปที่อื่นแล้ว แม้ก้อนมะเร็งจะยังมีขนาดเล็ก ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะแรกโดยการทำคอมพิวเตอร์ หากไม่เลิกสูบบุหรี่ก็ต้องทำทุกปี  ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายจะสูงแล้ว ร่างกายยังอาจได้รับอันตรายจากการได้รับรังสีซ้ำๆ อีกด้วย ทางที่ดีที่สุดคือการเลิกสูบบุหรี่ โดยยิ่งเลิกเร็วก่อนอายุ 40 ปี จะลดโอกาสเกิดมะเร็งปอดลงได้มาก ทั้งนี้มีคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ 11,740  รายในปี พ.ศ.2552